การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการทางเภสัชกรรม เรื่อง การเพิ่มศักยภาพเภสัชกรครอบครัวและเภสัชกรรมปฐมภูมิในยุค 2020
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการทางเภสัชกรรม เรื่อง การเพิ่มศักยภาพเภสัชกรครอบครัวและเภสัชกรรมปฐมภูมิในยุค 2020
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รหัสกิจกรรม 1006-2-000-001-02-2563
สถานที่จัดการประชุม ห้อง Tipwan 1 โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
วันที่จัดการประชุม 24 -26 ก.พ. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กลุ่มเป้าหมาย ๑. เภสัชกรและผู้สนใจจำนวน ๑๒๐ คน ๒. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน ๑๐ คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 16 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ คือ ระบบทีให้บริการสุขภาพในระดับที่เป็นด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้ป่วยหรือประชาชนในชุมชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ในลักษณะผสมผสานกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรคและการฟื้นฟูให้อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานแนวคิดแบบองค์รวมให้แก่บุคคล ครอบครัวและชุมชน โดยมีระบบเชื่อมโยง ประสานกัน ระหว่างสถานบริการและชุมชน พัฒนาร่วมกันให้เกิดองค์ความรู้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน
ด้วยบริบทสังคมและสาธารณสุขของประเทศไทยในยุค ๒๐๒๐ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการบริการแบบปฐมภูมิและการทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพในทีมหมอครอบครัวเพิ่มมากขึ้น งานเภสัชกรรมซึ่งจำเป็นต้องมีความเป็นพลวัตให้ทันตามกระแสที่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้ปัจจุบันงานด้านบริการเภสัชกรรม ที่เดิมเคยจำกัดแต่เพียงการทำงานเฉพาะแต่ในโรงพยาบาลหรือร้านยา ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เป็นที่พึ่งพิงของผู้ป่วย ผู้รับบริการ และประชาชนในระดับปฐมภูมิหรือในชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย เภสัชกรจึงต้องพัฒนาบทบาทการดูแลผู้ป่วย ผู้รับบริการจากเชิงรับให้เป็นเภสัชกรเชิงรุก ที่สามารถทำงานและบริบาลทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ดูแลผู้ป่วยเฉพาะราย ขยายการดูแลไปถึงการดูแลในระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งจากผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เภสัชกรต้องพัฒนาศักยภาพตนเอง ทั้งองค์ความรู้และทักษะในด้านการจัดการระดับปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการที่ดีด้านเภสัชกรรมปฐมภูมิเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เภสัชกรผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกรอบแนวคิดของการทำงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ทั้งทางด้านการบริหารจัดการ การบริบาล การดูแลต่อเนื่อง/ติดตาม และการสร้างเสริมความเข้มแข็ง ทั้งในระดับ ปัจเจกบุคคล/ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน โดยมีมุมมองในการคิดแบบองค์รวมทั้งทางด้านมิติทาง กาย จิตใจ สังคมและบริบทแวดล้อม รวมถึงการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพในงานปฐมภูมิและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านเภสัชกรรมปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ
Primary care, Family Pharmacist, Pharmacy management
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครสามารถสมัคร online ที่ www.pharmacy.su.ac.th