ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการเรื่อง The First Asian Pharmacometric Network (APN) Symposium
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการเรื่อง The First Asian Pharmacometric Network (APN) Symposium
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-038-11-2562
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรมตวันนา กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 18 -20 พ.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ หน่วยงานกำกับดูแลด้านยา ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 14.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
Pharmacometrics เป็นสาขาวิชาซึ่งเกิดได้ไม่นานนัก โดยเกิดมาจากวิชาเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics: PK) และเภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamics: PD) แต่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจกระบวนการในการรักษาตั้งแต่การพัฒนารูปแบบและวิธีการให้ยา (dosage form และ dosage regimen) ซึ่งนำไปถึงการคัดเลือกโมเลกุลที่เหมาะสมในขั้นตอนของการค้นคว้ายา (drug discovery) การนำโมเลกุลมาพัฒนาต่อเป็นยา (drug development) จนถึงการนำยานั้นมาใช้เพื่อผลประโยชน์ในการรักษา (pharmacodynamics) และมีความปลอดภัย (safety) จากการใช้ยานั้น ซึ่งต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของ ขนาด-ความเข้มข้น-และผลในการรักษาโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (mathematical model) และนำหลักการทางชีวสถิติ (biostatistics) มาผนวกรวมด้วยเพื่ออธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่เกิดจากตัวแปรร่วมเช่น อายุ น้ำหนัก เพศ พันธุกรรม และพฤติกรรมต่างๆ ในผู้ป่วย เป็นต้น ที่มีผลต่อพารามิเตอร์ต่างๆ ทั้งทางเภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพลศาสตร์ รวมถึงความแปรปรวนทางสถิติที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล (intersubject variability) และความแปรปรวนที่เกิดขึ้นภายในบุคคล (intrasubject variability) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาของเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ประชากร (population PK/PD) นอกจากนี้ยังผนวกการดำเนินของโรคในผู้ป่วยกับแบบจำลองด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ใช้อาจจะเป็นตั้งแต่แบบจำลองคอมพาร์ทเมนต์ (compartment model) หรือแบบจำลองที่เลียนแบบสรีรวิทยาของร่างกาย (physiologically-based pharmacokinetic model: PBPK) ทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลตั้งแต่ในหลอดทดลองมาคาดการณ์และพยากรณ์ข้อมูลในมนุษย์ (in vitro/in vivo extrapolation: IVIVE) และยังนำมาคาดการณ์หรือพยากรณ์ข้อมูลในมนุษย์ในประชากรที่ยังไม่เคยได้รับยา เช่นใช้ข้อมูลในผู้ใหญ่ไปคาดการณ์หรือพยากรณ์ข้อมูลในกลุ่มประชากรเด็กหรือผู้สูงอายุ การศึกษาในด้านนี้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และมีซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาจำนวนหนึ่งซึ่งง่ายต่อผู้ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเช่น ADMET predictorTM/GastroPlusTM, NONMEM, Monolix®, Phoenix NLME®, R-Studio (R-language), Simcyp®, Clinical Trial Simulator, PK-Sim®/MoBi®, S-Plus® เป็นต้น
เนื่องด้วยปัจจุบันมีความสนใจทางด้านนี้มากและได้มีองค์กรและเครือข่ายทางด้านนี้จัดตั้งขึ้นมาในระดับนานาชาติ เช่น American Society of Pharmacometrics (AsoP), International Society of Pharmacometrics (ISoP) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 1,000 คนทั่วโลก และ World Conference on Pharmacometrics (WCoP) และรวมถึงกลุ่มที่สนใจในวิธีการทางประชากรในหลายประเทศอันได้แก่ Population Approach Group in Europe (PAGE), Population Approach Group in Australia and New Zealand (PAGANZ), Population Approach Group in Japan (PAGJA), Population Approach Group in Korea (PAGK) และดูเหมือนว่ากำลังมีการจัดตั้ง population approach เพิ่มมากขี้นในแต่ละประเทศ แต่ยังไม่มีเครือข่ายองค์กรใดๆ ที่เป็นของประเทศในกลุ่มเอเชียที่ร่วมมือกันเลย จึงได้มีเกิดความร่วมมือกันใน 9 ประเทศเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งได้แก่ ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศไต้หวัน ประเทศสิงค์โปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ในการจัดตั้ง เครือข่าย pharmacometrics ในประเทศเอเชีย ที่เรียก Asian Pharmacometrics Network (APN) โดยมี Professor PARK KYUNG SOO, M.D., Ph.D. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Yonsei เป็นประธานของเครือข่ายในปัจจุบัน โดยเครือข่ายตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและวิจัย pharmacometrics สำหรับประเทศในเอเชีย เนื่องจากหลักการทางด้าน pharmacometrics นั้นจำเป็นในการวิจัยและพัฒนายา ในการวิจัยทางคลินิก ในการกำกับดูแลด้านยา การรักษาดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในด้านการกำกับดูแลด้านยานั้นปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่มากในหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา โดยมีหน่วยงานทางด้านนี้โดยตรงและมีการพัฒนาเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญด้านนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดการพัฒนาศักยภาพด้านนี้ตามกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เรียก Prescription Drug User Fee Act (PDUFA) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 และมีการปรับปรุงทุก 5 ปี ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 6 หรือ PDUFA VI ซึ่งเรื่องหนึ่งที่สำคัญในนั้นคือ การประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อแนะนำสำหรับการพัฒนายาที่เรียกว่า Model Informed Drug Development (MIDD)
ดังนั้นภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ให้ทั้งแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาดูแล ผู้ป่วย ผู้สนใจในการวิจัยพัฒนารูปแบบของยารวมถึงยาใหม่และผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร กลุ่มอุตสาหกรรม หน่วยงานกำกับดูแลด้านยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุเสพติด และเครื่องมือแพทย์ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สนใจ ส่วนราชการและเอกชนที่สนใจทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย และเพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยด้านนี้ในเอเชีย วิทยากรในการอบรมครั้งนี้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้จากประเทศไทยและต่างประเทศ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถรู้ถึงพื้นฐานและขอบข่ายของ pharmacometrics และ มีความเข้าใจและประสบการณ์จากการใช้ซอฟต์แวร์ทางด้าน pharmacometrics ร่วมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเอเชีย
2. เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุเสพติด และเครื่องมือแพทย์ เข้าใจถึงความจำเป็นและการประยุกต์ใช้หลักการทางด้าน pharmacometrics เพื่อการทบทวนเอกสารที่นำมาใช้ขึ้นทะเบียน
3. เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุเสพติด และเครื่องมือแพทย์ เข้าใจถึงความจำเป็นและการประยุกต์ใช้หลักการทางด้าน pharmacometrics เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินผลิตภัณฑ์ก่อนการพัฒนาเพื่อเพิ่มโอกาสในความสำเร็จและลดต้นทุนในการวิจัยพัฒนา
คำสำคัญ
Asian Pharmacometric Network (APN), Pharmacokinetics (PK), Pharmacodynamics (PD), Model Informed Drug Development (MIDD)
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครและลงทะเบียน สมัครพร้อมชำระเงินค่าลงทะเบียน โดยโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-443603-5 ชื่อบัญชี Academic Conference, Faculty of Pharmacy, Mahidol University โปรดกรอกใบสมัคร online ทาง https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/apn2019/ พร้อม scan/ถ่ายรูป ใบโอนเงินชำระค่าลงทะเบียน (ใบ pay in) มาทาง online (ในวันประชุมโปรดนำใบนำฝากธนาคารตัวจริงมาด้วยเพื่อตรวจสอบ) จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมไม่เกิน 100 คน (ไม่รับลงทะเบียนหน้างาน) ค่าลงทะเบียน อัตราค่าลงทะเบียน บุคคลทั่วไป คนไทย (ภายใน 20 ตุลาคม 2562) ท่านละ 2,500 บาท บุคคลทั่วไป ชาวต่างชาติ (ภายใน 20 ตุลาคม 2562) ท่านละ 120 USD นักศึกษาคนไทย (ภายใน 20 ตุลาคม 2562) ท่านละ 1,500 บาท นักศึกษาชาวต่างชาติ (ภายใน 20 ตุลาคม 2562) ท่านละ 80 USD ค่าลงทะเบียนรวมเอกสารประกอบการประชุม อาหารกลางวัน และอาหารว่าง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วและมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัดได้ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0409.6/ ว 95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และระเบียบของแต่ละหน่วยงาน สอบถามข้อมูล ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ - หน่วยจัดกิจกรรมวิชาการ Email : supattra.kon@mahidol.ac.th , Email : amonrut.jai@mahidol.ac.th รศ.ภก.ดร. กอบธัม สถิรกุล, อ.ภญ.ดร. ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์, ผศ.ภญ.ดร. จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย, คุณพิณพิศ แสงเภา, คุณพูนทรัพย์ มี้เจริญ ที่โทรศัพท์/โทรสารหมายเลข 0-2644-8694