การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ “Pharmacogenetics and Its Applications in Pharmacy Practice”
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ “Pharmacogenetics and Its Applications in Pharmacy Practice”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
รหัสกิจกรรม 1011-2-000-003-08-2562
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุมพระราชปัญญาโมลี โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
วันที่จัดการประชุม 14 ก.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรและผู้สนใจ จำนวน 40 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ลักษณะทางพันธุกรรม (genotype) เป็นปัจจัยที่กำหนดลักษณะการแสดงออกของร่างกาย (phenotype) เช่น สีผิว สีผม ส่วนสูง โดยในกลุ่มประชากรหนึ่งๆ จะพบความแตกต่างของการแสดงออกเหล่านี้ได้จากความแปรผันของลักษณะทางพันธุกรรม (genetic variation) นอกจากลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันแล้ว งานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่าความแปรผันทางพันธุกรรมสามารถส่งผลต่อการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกันได้เช่นกัน และการทราบลักษณะทางพันธุกรรมสามารถช่วยการตัดสินใจในการเลือกยาหรือปรับขนาดยาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งองค์ความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางพันธุกรรมและการตอบสนองต่อยานี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “เภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetics)” ดังนั้นเภสัชกรซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยามักได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำองค์ความรู้ทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งในประเทศไทยได้ริเริ่มการนำความรู้เภสัชพันธุศาสตร์มาใช้ในงานบริการแล้วสำหรับการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยาชนิดรุนแรง (severe cutaneous adverse reactions; SCARs) ในผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้ยา carbamazepine เป็นครั้งแรก ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองยีนชนิดนี้ให้แก่ประชาชนไทยทุกคนตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2562 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้มีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรองยีนมากขึ้นและเภสัชกรจะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการใช้ยาที่ต้องอาศัยข้อมูลลักษณะทางพันธุกรรมมากขึ้นในเร็วๆ นี้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อฟื้นฟูความรู้พื้นฐานด้านพันธุศาสตร์และเภสัชพันธุศาสตร์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
2. เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบของการประยุกต์ใช้เภสัชพันธุศาสตร์ในการปฏิบัติงานของเภสัชกร
3. เพื่อให้เภสัชกรสามารถแปลผลการตรวจยีนในเบื้องต้นและตัดสินใจเลือกยาหรือปรับขนาดยาจากผลตรวจยีนได้อย่างเหมาะสม
คำสำคัญ
Pharmacogenetic, Adverse Reactions, Pharmaceutical care