การประชุมวิชาการ
การประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๔
ชื่อการประชุม การประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๔
สถาบันหลัก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
รหัสกิจกรรม 3002-2-000-002-08-2562
สถานที่จัดการประชุม ทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย
วันที่จัดการประชุม 21 -23 ส.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๕๐๐ คน ประกอบด้วยแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิจัย เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้ที่สนใ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 16 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกันตั้งแต่มีโลหิตจางเล็กน้อย โลหิตจางมาก ไปจนถึงอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาหรือหลังคลอดไม่นาน ส่วนผู้ที่ไม่เป็นโรคหรือที่เรียกว่าเป็นพาหะ จะมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้ ในประเทศไทยพบพาหะธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ ๓๐ – ๔๐ ของประชากรหรือประมาณ ๑๘ – ๒๔ ล้านคน และมีผู้ป่วยโดยรวมประมาณ ๖ แสนคน ในแต่ละปี ประเทศไทยมีมารดาที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ ๕ หมื่นครรภ์ และมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ๑๒,๑๒๕ ราย การรักษาสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก และต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย การรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างมากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผู้ปกครองต้องสิ้นเปลืองเงินทองในการรักษา และสูญเสียเวลาในการดูแลบุตร ปัญหาทางเศรษฐกิจพบว่ารัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยปีละไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ล้านบาท
การควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียสามารถทำได้หากบุคลากรทางการแพทย์ได้รับความรู้ที่เพียงพอจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ประกอบกับความรู้และเทคโนโลยีทางด้านธาลัสซีเมียมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่มีประโยชน์ สมควรที่จะเผยแพร่และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย และทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนประสานการทำงานให้เกิดเครือข่ายการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียที่มีประสิทธิภาพ และครบวงจร
ในปี ๒๕๖๒ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับเกียรติจากที่ประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๓ ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๔ ประจำปี ๒๕๖๒ ขึ้น โดยคาดว่าผลจากการประชุมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมีย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยและประชากรไทยโดยรวมต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโรคธาลัสซีเมีย ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิจัย ตลอดจนผู้ที่สนใจ ให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อเปิดโอกาสให้วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านธาลัสซีเมีย และผู้เข้าร่วมประชุม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น และประสบการณ์ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียที่รวดเร็ว และครบวงจรในที่สุด
คำสำคัญ