การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการงานเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 24/2562 เรื่อง Pharmacotherapy and Basic Skills for Geriatric
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการงานเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 24/2562 เรื่อง Pharmacotherapy and Basic Skills for Geriatric
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-015-07-2562
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม ที อาร์ ร็อค ฮิลล์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วันที่จัดการประชุม 01 -05 ก.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรผู้สนใจจำนวน 100 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 31.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพบว่าในเดือนตุลาคม 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 11.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรนี้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะปัญหาค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง ซึ่งนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มที่จะมีโรคภัยไข้เจ็บหรือโรคเรื้อรังมากกว่าหนึ่งชนิด มีอัตราเข้ารับการรักษาที่สูงเสี่ยงต่อภาวะทุพลภาพต่างๆเกิดเป็นภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเป็นระยะเวลานาน เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลที่สูง และเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หากผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจะทำให้เกิดปัญญาสุขภาพที่รุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเป็นจำนวนมาก ทำให้ชุมชนจำเป็นต้องมีระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) และระบบการดูแลระยะยาว(Long–term care) เพื่อรองรับปัญหาที่ทวีคูณมากยิ่งขึ้นในภายภาคหน้า นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่มาก มีการรับประทานยาจำนวนมาก นำไปสู่การเกิดความเสี่ยงด้านยา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ปัญหาในการรับประทานยา เช่น หลงลืม รับประทานผิดวิธี หรือปัญหาในการกลืนยา รวมถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการตีกันของยาบางชนิด เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยและการดำเนินไปของโรคในอนาคต นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และขาดความเข้าใจถึงแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดความเบื่อหน่าย หรือการเสาะแสวงหาการรักษาทางเลือกอื่น เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้ได้ หรือการใช้ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ และสารปนเปื้อนที่ห้ามใช้ต่างๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยตามมามากมายเช่น ภาวะกระดูกพรุน ฮอร์โมนที่ผิดปกติ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ เสียชีวิตได้
“เภสัชกร” ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตั้งแต่การผลิต ควบคุม วิเคราะห์ แนะนำ และส่งมอบยาให้แก่ผู้ป่วย ถือเป็นกำลังสำคัญของระบบสุขภาพในการช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ งานวิจัยจำนวนมากสะท้อนให้เห็นว่าการให้คำแนะนำ และการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดของเภสัชกรมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการใช้ยาตามสั่งของผู้ป่วย ลดปัญหาที่เกิดจากยา เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ และมีส่วนช่วยเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว การขยายบทบาทเภสัชกรจากการทำงานแบบตั้งรับ ณ สถานพยาบาลถูกท้าทายด้วยโจทย์ความต้องการทางสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นบทบาทใหม่ของการให้บริการเชิงรุก เข้าถึงชุมชนและผู้ป่วย ช่วยคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรค ติดตามและให้คำแนะนำด้านยาและการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยอย่างทันท่วงที เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษาและลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากข้อจำกัดบางประการ นับเป็นวิธีที่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่าการให้บริการรูปแบบเดิม ความรู้และทักษะของเภสัชกรจึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนบทบาทนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการงานเภสัชกรรมคลินิกด้านการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและแก้ไขปัญหาทางสุขภาพอันจะมีส่วนช่วยให้มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เสริมศักยภาพของเภสัชกรให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้สูงอายุ
2. เพื่อให้เกิดการการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและมีการเชื่อมประสานที่ดีระหว่างวิชาชีพและสถานพยาบาลในแต่ละระดับ
คำสำคัญ
Pharmacotherapy and Basic Skills for Geriatrics
วิธีสมัครการประชุม
http://regist.pharmacy.psu.ac.th/clinic/frmviewbeforeregister.php?confid=17