ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมนักวิจัยระดับนานาชาติ เรื่อง Precision Animal Models in Cancer Research
ชื่อการประชุม การประชุมนักวิจัยระดับนานาชาติ เรื่อง Precision Animal Models in Cancer Research
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-028-06-2562
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 03 มิ.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ / นักวิจัย จำนวน 50 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง และหาวิธีการรักษาและพัฒนายาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง และหลายปีที่ผ่านมาพบว่า มีงานวิจัยมากมายศึกษากลไกการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุล และพัฒนาหาสารต้านมะเร็งทั้งในเซลล์เพาะเลี้ยงและแบบจำลองสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตามการศึกษาโดยใช้แบบจำลองสัตว์ทดลองมีข้อจำกัด กลไกของโปรตีนบางชนิดแสดงผลการศึกษาที่ไม่ชัดเจนในแบบจำลองสัตว์ทดลองเมื่อเทียบกับการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยง หรือการศึกษาในแบบจำลองสัตว์ทดลองยังไม่สามารถตอบคำถามงานวิจัยในระดับโมเลกุลได้เนื่องจากความซับซ้อนของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาแบบจำลองสัตว์ทดลองโดยนำเทคโนโลยีทางพันธุกรรมเข้ามาใช้ศึกษาบทบาทของยีนหรือโปรตีน เพื่อสามารถศึกษากลไกระดับโมเลกุลในสัตว์ทดลองและสามารถตอบคำถามงานวิจัยได้ในระดับโมเลกุลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การใช้แบบจำลองที่มีความเฉพาะเจาะจงในสัตว์ทดลองนั้น เป็นแบบจำลองหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากสามารถควบคุมพันธุกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปเช่นเดียวกับที่เกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในมนุษย์ รวมถึงสามารถทดสอบการให้ยาหรือสารเคมีทั้งชนิด และปริมาณที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแบบจำเพาะต่อบุคคลในระดับยีน (Personalized medicine) ซึ่งในแบบจำลองนี้เราสามารถควบคุมการทำงานของยีนได้ ทั้งในความจำเพาะต่อชนิดของเนื้อเยื่อ (Tissue-specific) และความจำเพาะต่อช่วงเวลา (Time-specific) เช่นการเกิดการทำงานของยีนกลายพันธุ์ในช่วงเริ่มต้นของการเกิดเนื้องอก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาในแบบจำลองสัตว์ทดลองยังจำเป็นต้องมีการพัฒนา เนื่องจากกลไกในการเกิดมะเร็งแตกต่างกัน รวมถึงการควบคุมในระดับพันธุกรรมมีการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็งแต่ละชนิด จึงนำมาสู่โครงการการจัดงานประชุม “Precision Animal Models in Cancer Research”
ในโครงการนี้จึงได้มีการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านแบบจำลองสัตว์ทดลองทางด้านมะเร็งที่ได้รับการยอบรับในวงวิชาการ ได้แก่ Professor Xiang Gao และ Professor Geng Liu จาก Model Animal Research Center, Nanjing University ประเทศจีน มีความเชี่ยวชาญในการสร้างแบบจำลองสัตว์ทดลองที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม เพื่อใช้ศึกษาบทบาทหน้าที่ของยีนต่อการการเกิดโรคมะเร็ง Professor Yoshihiro Hayakawa จาก Institute of Natural Medicine, Toyama University ประเทศญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญในการใช้แบบจำลองสัตว์ทดลองในการศึกษาภูมิคุ้มกันมะเร็ง และในการทดสอบฤทธิ์ของสารต้านมะเร็ง
ทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาจารย์นักวิจัยที่ทำการศึกษาวิจัยทางด้านสารที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง และการหาเป้าหมายใหม่ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยคณะผู้จัดงานจากกลุ่มวิจัยการประเมินความเป็นพิษและประสิทธิภาพของยาและสารเคมีขั้นพรีคลินิก (Preclinical Toxicity and Efficacy Assessment of Medicines and chemicals; PTEAM) สามารถนำมาจัดกลุ่มงานวิจัยตามตารางที่ 1 เพื่อแสดงแนวทางในการร่วมมือทางด้านวิจัยตามความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 ทางคณะผู้จัดงานกลุ่มวิจัย PTEAM ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ Model Animal Research Center, Nanjing University ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างแบบจำลองสัตว์ทดลองและ Institute of Natural Medicine, Toyama University ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทดสอบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโดยใช้แบบจำลองสัตว์ทดลองเพื่อพัฒนาเป็นยาใหม่ งานประชุมนี้จึงเป็นโอกาสอันดีในสร้างกลุ่มร่วมมือทางด้านวิจัยระหว่างสถาบัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยด้านการใช้แบบจำลองสัตว์ทดลองในการศึกษาทางพรีคลินิก และวางแผนความร่วมมือในการวิจัยยาต้านมะเร็งและเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยระหว่างคณาจารย์ นักวิจัย ระหว่างสถาบัน และพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกัน
- เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัย สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ต่อยอดในการออกแบบงานวิจัย
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.pharm.chula.ac.th/ce) โดยไม่เสียค่าลงทะเบียน