หลักการและเหตุผล
การฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ โดยบูรณาการการเรียนรู้ทั้งทักษะทางด้านวิชาการ ด้านวิชาชีพ และด้านทักษะชีวิต เพื่อให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริงภายหลังจบการศึกษา ซึ่งการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตจากบริบทของหลักสูตร 5 ปี มาเป็นหลักสูตร 6 ปี (Doctor of Pharmacy; Pharm D) มีจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมได้มากขึ้น ดังนั้น การฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาเน้นสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 6 จึงจำเป็นต้องออกแบบโดยมุ่งเน้นให้สามารถพัฒนาทักษะทางคลินิก โดยนักศึกษาให้สามารถปฏิบัติงานเป็นเภสัชกรได้จริงหลังจบการศึกษาเป็นสำคัญ ในด้านหลักการจัดการเรียนการสอนทักษะที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตในยุคศตวรรษที่ 21 เน้นการลงมือจริงทำบนพื้นฐานของปัญหาจริง และเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ เช่น critical thinking, problem solving, communication, collaboration, ICT literacy, innovative & creative, etc. เพื่อให้บัณฑิตมีความพร้อมในการประกอบวิชาชีพจริงได้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ อยู่ที่นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของเภสัชกรแหล่งฝึกฯ นอกจากนี้ ในปัจจุบันสภาเภสัชกรรมได้มีการกำหนดให้การฝึกปฏิบัติงานสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม
ด้านการบริหารจัดการด้านยาเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาในโรงพยาบาล (Medication Safety Management System in Hospital; MSMS in Hospital) หรือการฝึกงานระบบยา เป็นผลัดบังคับสำหรับนักศึกษาสาขานี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป และการปรับเปลี่ยนแนวคิดการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมในลักษณะการปฏิบัติงานจริงแบบ externship ซึ่งในการทำงานจริงของงานทางด้านเภสัชกรรมในสถานพยาบาลก็มีกิจกรรมต่าง ๆ ตามนโยบายและการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพที่หลากหลายเพิ่มเติมมากขึ้น ภายใต้บริบทต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาไปเหล่านี้
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยภาควิชาเภสัชกรรม จึงเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคปฏิบัติและภาคการศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมที่ตอบสนองและให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ได้ร่วมเป็นเรี่ยวแรงส่วนหนึ่งในการช่วยการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ในขณะเดียวกันกับการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม อันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับหน่วยงาน ผู้ป่วย และตัวนักศึกษาเองในลักษณะ Win-Win model
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เภสัชกรแหล่งฝึกจากสถานพยาบาลต่างๆ และคณาจารย์ที่ดูแลการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุดประสบการณ์ของการฝึกปฏิบัติงานสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม และร่วมกันเสนอแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม ให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน ผู้ป่วย และนักศึกษามากขึ้น