การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และการจัดการดูแลผู้เป็นเบาหวาน ประจำปี 2562
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และการจัดการดูแลผู้เป็นเบาหวาน ประจำปี 2562
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-024-06-2562
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุม SiMR101 ชั้น1 ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
วันที่จัดการประชุม 19 -21 มิ.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
กลุ่มเป้าหมาย สำหรับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ ผู้ให้ความรู้เบาหวาน และบุคลากรทางการแพทย์ในคลินิกเบาหวาน/ศูนย์สาธารณสุข ที่เกี่ยวข้อง
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 15.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น หากการดูแลรักษาไม่มีประสิทธิภาพดีพอจะเป็นเหตุนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังของระบบต่างๆ ที่มีต่อสุขภาพและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคไตวาย สูญเสียสายตา แผลที่เท้าและถูกตัดเท้า ดังนั้นการดูแลรักษาผู้เป็นโรคเบาหวานในปัจจุบันจึงมุ่งเน้น Diabetes Self-Management Education ควบคู่กับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ตระหนักเห็นความสำคัญของการควบคุม มีทักษะการดูแลเบาหวานด้วยตนเอง สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเกิดประโยชน์จนนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีขึ้น
การให้ความรู้และฝึกทักษะการดูแลเบาหวานแก่ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหน้าที่โดยตรงของทีมสุขภาพและจัดเป็นนโยบายของโรงพยาบาลศิริราช เน้นการดูแลรักษาแบบองค์รวม(Holistic Approach) ดังนั้นการให้ความรู้การสร้างทักษะผู้เป็นเบาหวานจนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานขั้นสูง และมีทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในการจัดอบรมนี้ จะมีการจัดอบรมทั้งหมด 3 วัน ทุกเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคมของทุกปีโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากศูนย์เบาหวานศิริราช และจากภาควิชาต่างๆ ในคณะแพทยศาสตร์
ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ การเผยแพร่ความรู้ การดูแลผู้เป็นเบาหวานอย่างถูกต้อง เป็นระบบ ทันสมัย และครบองค์รวมในการดูแลรักษา การอบรมประกอบด้วย 2 หลักสูตร ซึ่งจะจัดสลับกันปีเว้นปี ได้แก่
1) หลักสูตรที่ 1 (Practical Points in Diabetes Care) ซึ่งเป็นการสอนพื้นฐาน หลักการในการดูแลผู้เป็นเบาหวาน (Practical point) การวินิจฉัย การประเมินภาวะแทรกซ้อน การสั่งการรักษา การบริหารยารับประทาน ยาฉีดเบาหวาน การออกกำลังกาย การให้ความรู้ การปรับพฤติกรรม การดูแลผู้เป็นเบาหวานในกรณีผู้สูงอายุ และเด็ก รวมถึงการป้องกันโรคเบาหวาน
หลักสูตรนี้เหมาะกับ: แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ ผู้ให้ความรู้เบาหวาน (Diabetes Educators) และบุคลากรทางการแพทย์ในคลินิกเบาหวาน/ศูนย์สาธารณสุข โดยสามารถสมัครเป็นรายบุคคล หรือกลุ่มทีมการรักษา
*** การจัด workshop นั้น ทางทีมงานจะมีการจัดกิจกรรมแยกให้เหมาะสมตามระดับกลุ่มผู้เข้าอบรม เช่น
กลุ่มแพทย์ พยาบาลเชี่ยวชาญเป็นต้น

2) หลักสูตรที่ 2 (Advanced skills for diabetes) ซึ่งเป็นการสอนการประยุกต์ความรู้พื้นฐาน
การวินิจฉัยเบาหวานชนิดอื่นๆ (Other type Diabetes) การแก้ปัญหาและรักษาในกรณีผู้เป็นเบาหวานที่มีอาการซับซ้อน (Complicated case DM) ความรู้โรคเบาหวานใหม่ๆ ทันสมัย (Last updated evidence) การดูแลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 การจัดอาหารสำหรับผู้มีภาวะพิเศษ เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางไต เทคนิคขั้นสูงในการปรับพฤติกรรม การควบคุมระดับน้ำตาลเวลาไม่สบาย หรือได้รับการรักษาด้วยยา Steroid การดูแลรักษาเบาหวานในผู้ป่วยวิกฤติ การรักษาเบาหวานให้หายขาด เทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาแผลเท้าเบาหวาน การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเกี่ยวกับการดูแลรักษาเบาหวาน (CGM, Insulin pump, technology for DM complication management) รวมถึงการทำวิจัยด้านเบาหวาน
หลักสูตรนี้เหมาะกับ: แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป อายุรแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง พยาบาล เภสัชกร
นักโภชนาการ และผู้ให้ความรู้เบาหวาน (Diabetes Educators) ที่มีประสบการณ์พื้นฐานในการดูแล
ผู้เป็นเบาหวาน
ดังนั้น ศูนย์เบาหวานศิริราชจึงกำหนดให้มีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และการจัดการดูแลผู้เป็นเบาหวาน ประจำปี 2562 (Update diabetes management and holistic care 2019: Diabetes Intelligent Management 2019) โดยหลักสูตรที่ 1 (Practical Points in Diabetes Care) แก่ทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันให้ความรู้ ฝึกทักษะ และรวมทั้งดูแลผู้เป็นเบาหวานและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
วัตถุประสงค์
1) มีความรู้และแนวทางการดูแลผู้เป็นเบาหวานที่ทันสมัย
2) มีทักษะและทัศนคติการให้ความรู้ผู้ป่วยและครอบครัว สู่การปฏิบัติจริง และนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีและป้องกันภาวะแทรกซ้อน
3) มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลผู้เป็นเบาหวาน
4) เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เป็นเบาหวานให้มีส่วนร่วมในการจัดการดูแลตนเองให้มากขึ้น
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
อัตราค่าลงทะเบียน - ค่าลงทะเบียน Early Registration 3,000 บาท - ค่าลงทะเบียน Late Registration 3,500 บาท จำนวนผู้เข้ารับการอบรม ผู้เข้าอบรม จำนวน 120 คน - บุคลากรภายนอกคณะ จำนวน 100 คน - บุคลากรภายในคณะ จำนวน 20 คน (ไม่เสียค่าใช้จ่ายการลงทะเบียน)