การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนาระบบยาและบริการเพื่อเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสู่ร้านยาในจังหวัดเชียงใหม่
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนาระบบยาและบริการเพื่อเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสู่ร้านยาในจังหวัดเชียงใหม่
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-019-04-2562
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 20 -21 เม.ย. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย 1. ร้านยามาตรฐาน GPP ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 5 ร้าน 2. เภสัชกรแหล่งฝึก/ เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานในร้านยามาตรฐาน GPP ในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างน้
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญและเรื้อรังของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและสารเสพติดเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life years) สูงถึงร้อยละ 7.4 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด โดยมีปีสุขภาวะที่สูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (year lived with disability) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มโรคอื่น1 ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียปีสุขภาวะเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากอุบัติเหตุ และเป็นอับดับ 4 ในผู้หญิงรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคผิดปกติทางการรับรู้2 ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตจึงก่อให้เกิดภาระสุขภาพอย่างมาก หากขาดกระบวนการหรือนโยบายในการจัดการที่ดีพอ
การสำรวจระบาดวิทยาของโรคจิตเวชและสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2556 (ภาพที่ 1) โดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานความชุกชั่วชีวิตของโรคจิตเวชใด ๆ พบว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาของคนไทยประมาณ 3.9 ล้านคน (ร้อยละ 7.4) เป็นโรคจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค โดยความชุกที่สูงที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ (ร้อยละ 9.3) เช่นเดียวกับความชุกของโรคซึมเศร้า (ร้อยละ 2.5) และความชุกของ ประสบการณ์ฆ่าตัวตาย (ความคิด วางแผน หรือ เคยพยายามฆ่าตัวตาย) ในรอบ 12 เดือน (ร้อยละ 1.3) ที่พบมากที่สุดในภาคเหนือ3

ภาพที่ 1 การสำรวจระบาดวิทยาของโรคจิตเวชและสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2556
อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคจิตและโรคซึมเศร้าร้อยละ 43.6 และร้อยละ 38.4 ตามลำดับ พบว่าการเข้าถึงบริการโรคจิตมากกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด (ร้อยละ 50.0) และยังมีค่าที่ค่อนข้างสูงในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลการรับบริการปัญหาสุขภาพจิตช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่มีโรคจิตเวชที่รับการบริการใด ๆ เพียงร้อยละ 11.5 โดยเป็นบุคลากรในระบบสุขภาพเพียง 1 ใน 3 คือร้อยละ 3.7 ส่วนที่เหลือได้รับบริการจากผู้เชี่ยวชาญนอกระบบสุขภาพ (พระ ผู้นำศาสนา หมอแผนโบราณ หมอผี ร่างทรง หมอฝังเข็ม หมอพื้นบ้าน ฯลฯ) ดังนั้นแม้วิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก แต่ยังเห็นได้ว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตยังเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญอื่นนอกระบบสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีประสบการณ์ฆ่าตัวตาย3
นอกจากนี้อุปสรรคในการเข้ารับบริการอาจมาจากตัวผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ดูแล เช่น การไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย ความไม่ร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง การเป็นภาระต่อผู้ดูแลในการนำมารักษา การขาดแคลนสถานพยาบาลและบุคลากรสุขภาพจิตที่ให้บริการ ปัญหาของระบบบริการโดยรวม ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในสัดส่วนที่สูงกว่ามากให้กับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และหน่วยบริการปฐมภูมิ ส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในการค้นหาและคัดกรองการเจ็บป่วยทางจิตเวชในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งต่อสถานพยาบาลใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการและการรักษาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยลดช่องว่างการบริการสุขภาพจิตได้อย่างดี
ปัญหาการรับบริการในโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตแออัดเพิ่มขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้จากสถิติผู้ป่วยนอกโรคจิตเวชของโรงพยาบาลสวนปรุง ได้แก่ โรคจิต โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว ที่เพิ่มขึ้นทุกปี (ภาพที่ 2) ปัจจุบันโรงพยาบาลสวนปรุงมีระบบการรับยาต่อเนื่องทางไปรษณีย์และรับยากับเภสัชกรของโรงพยาบาล โดยไม่ต้องพบจิตแพทย์ (re-medication) โดยผู้ป่วยที่เข้าระบบนี้จะต้องผ่านการประเมินอาการทางจิต อาการข้างเคียงจากยา และความร่วมมือในการใช้ยาจากเภสัชกร เพื่อให้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ก่อน อย่างไรก็ตามระบบนี้ยังมีช่องว่างในแง่ของการบริบาลเภสัชกรรมหลังจากรับยาไปแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยจะรีบยาทุก 6 เดือน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการกำเริบของโรค อาการข้างเคียงระยะยาว หรือความไม่ร่วมมือทางการรักษาในระยะถัดมาได้
นอกจากนี้การผลักภาระไปให้โรงพยาบาลปฐมภูมิ หรือ ทุติยภูมิ ก็เสมือนกับการถ่ายเทความแออัดไปยังโรงพยาบาลเหล่านั้น ทำให้ต้องจัดตั้งระบบการรับยาในผู้ป่วยอาการคงที่ดังกล่าว ปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาคือ ผู้ป่วยจิตเวชมักจะติดการรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นตัวจิตแพทย์ หรือชนิดของยาที่ใช้
ดังนั้นการพัฒนาระบบยาและบริการเพื่อการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสู่ร้านยา ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ลดความแออัดของโรงพยาบาล ยกระดับบทบาทของเภสัชกรร้านยาในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในแง่ของป้องกันการกำเริบหนัก จัดการอาการข้างเคียงเบื้องต้น เพิ่มความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แนวทางนี้ยังสอดคล้องกับเจตนารมย์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ต้องการให้นำ “ร้านยา” เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ เป็นเสมือนห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล นอกจากประโยชน์ที่ได้รับแล้ว คาดว่าจะทำให้เกิดความพึงพอใจ เนื่องจากสามารถลดตราบาป (stigma) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้


ภาพที่ 2 สถิติผู้ป่วยโรคจิตเวช โรงพยาบาลสวนปรุง
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เภสัชกรร้านยามาตรฐาน GPP ได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคและการใช้ยาเพื่อรักษาโรคจิตเภท ซึมเศร้าและนอนไม่หลับ รวมถึงสามารถคัดกรองและติดตามการใช้ยาในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้ถูกต้อง
คำสำคัญ
โรคจิตเวชและสุขภาพจิต