การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการ เรื่อง “การกำกับดูแลวัคซีนด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพก่อนออกสู่ท้องตลาด” (Manufacturing & Quality Control for marketing authorization of vaccine)
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการ เรื่อง “การกำกับดูแลวัคซีนด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพก่อนออกสู่ท้องตลาด” (Manufacturing & Quality Control for marketing authorization of vaccine)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-025-05-2562
สถานที่จัดการประชุม ห้อง 902 ชั้น 9 อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 16 -17 พ.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย - เภสัชกรและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองส่งเสริมการประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอื่น ๆ ที่รั
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การให้วัคซีนถือเป็นแนวทางที่สำคัญและมีประสิทธิภาพสูงแนวทางหนึ่งในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อ ตลอดจนลดความรุนแรง ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและยังทำให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งนับเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนรวมถึงผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วัคซีนออกจำหน่ายในท้องตลาดมากมายและมีความหลากหลายทั้งด้านประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดชนิดใหม่ รูปแบบทางเภสัชกรรม รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิตวัคซีนรูปแบบต่างๆเพิ่มมากขึ้น นอกจากเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีนแล้วยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ การตรวจหาคุณลักษณะจำเพาะ และการพิสูจน์เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์วัคซีนดังกล่าว โดยที่วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่มีความซับซ้อนแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ยาเคมี ทั้งในด้านคุณสมบัติตามธรรมชาติเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตทำให้มีคุณสมบัติ ในเรื่อง heterogenicity รวมถึงปัญหาในเรื่องการปนเปื้อนทางชีวภาพต่างๆมากมาย ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพอย่างก้าวกระโดดและนำมาใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน เช่น การสร้างดีเอ็นเอสายผสม (recombinant DNA) จากการตัดต่อทางพันธุกรรม การพัฒนาเซลล์เจ้าบ้านชนิดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำบริสุทธิ์วัคซีน การคิดค้นวิธีการและเครื่องมือชนิดใหม่ๆสำหรับการวิเคราะห์ ตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน จากความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากนำผลิตภัณฑ์วัคซีนใหม่ๆมาขอรับการขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเนื่องจากความสำคัญในการป้องกันโรคของวัคซีนดังกล่าวแล้ว ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญและได้ออกมาตรการต่างๆในการส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อประกันความมั่นคงทางวัคซีนของชาติ ดังนั้นในปัจจุบันจึงเริ่มมีผู้ประกอบการผลิตวัคซีนในประเทศเพิ่มขึ้นและมีความพยายามในการค้นคว้าพัฒนาการผลิตอย่างครบวงจรภายในประเทศ
กองส่งเสริมการประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวของวัคซีน ประกอบกับมีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแลผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสุขภาพซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์วัคซีน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์วัคซีนที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันโรคได้ รวมถึงมีความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ จึงขอความร่วมมือจากภาควิชาชีวเคมีและจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้จัดอบรมทางวิชาการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและควบคุมคุณภาพวัคซีนแก่บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานเพียงพอต่อการปฏิบัติงานกำกับดูแลวัคซีนให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนออกสู่ท้องตลาด และสามารถออกมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมถูกหลักวิชาการในการกำกับดูแลอีกด้วย รวมตลอดถึงสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการผลิต เพื่อร่วมกันส่งเสริมผลักดันให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในประเทศที่มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากลก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนภายในประเทศอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เภสัชกรและผู้เกี่ยวข้องกับงานวัคซีนมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของวัคซีน กระบวนการและเทคโนโลยีการผลิต การควบคุมคุณภาพตามหลักวิชาการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลวัคซีนก่อนออกสู่ท้องตลาด ให้ถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเน้นในส่วนการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซิน เช่น การตรวจรับคำขอขึ้นทะเบียน การประเมินความครบถ้วนของเอกสารการขึ้นทะเบียนตำรับทางวิชาการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การประเมินข้อมูลเชิงวิชาการในเบื้องต้นก่อนส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเชิงลึก รวมถึงการให้คำแนะนำในเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.pharm.chula.ac.th/ce/) โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ - อัตราค่าลงทะเบียนและชำระเงินภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ท่านละ 3,500 บาท - อัตราค่าลงทะเบียนและชำระเงินหลังวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ท่านละ 4,000 บาท