การประชุมวิชาการ
WU Pharmacy Forum 2019: Good Pharmaceutical Procurement Practice
ชื่อการประชุม WU Pharmacy Forum 2019: Good Pharmaceutical Procurement Practice
สถาบันหลัก สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
รหัสกิจกรรม 1016-2-000-001-05-2562
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 11 -12 พ.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรจัดซื้อในโรงพยาบาลและเภสัชกรทั่วประเทศ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาเข้าโรงพยาบาลเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก ที่ช่วยให้โรงพยาบาลมีเวชภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย กระบวนการในการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาเพื่อให้ได้ยาที่เหมาะสมต่อการนำเข้าโรงพยาบาลจะมีหลายขั้นตอน มีความซับซ้อนมาก จะต้องใช้ความรู้ทางเภสัชศาสตร์มาช่วยประเมินด้านคุณภาพของยา ตั้งแต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ในการผลิต มาตรฐานกระบวนการผลิต รวมถึงการประกันคุณภาพและการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาที่พร้อมจำหน่ายของโรงงานผู้ผลิต ในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงประเด็นด้านอื่นๆ ประกอบการพิจารณาอีกด้วย ได้แก่ การกำหนดจำนวนซื้อที่เหมาะสมต่อการหมุนเวียนยาในโรงพยาบาล คัดเลือกยาที่มีราคาถูกที่สุดเพื่อให้ได้ยาราคาถูก ลดรายจ่ายของโรงพยาบาล และทำให้ผู้ป่วยในระดับกลางถึงระดับล่างสามารถเข้าถึงยาได้ง่าย และที่สำคัญการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาเข้าโรงพยาบาลจะต้องมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องต่อกฎระเบียบในการจัดซื้อยาภาครัฐ เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อยามีความเป็นธรรม มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาเข้าโรงพยาบาลจึงเป็นความท้าทายของเภสัชกรผู้ทำหน้าที่จัดซื้อเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการรักษา และปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ปัจจุบันพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้การจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาของโรงพยาบาลของรัฐอีกด้วย ดังนั้นการนำหลักการทางเภสัชศาสตร์และหลักการทางการแพทย์ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย จึงเป็นความท้าทายของเภสัชกรจัดซื้อในโรงพยาบาลรัฐอย่างยิ่ง
การคัดเลือกยา (drug selection) เข้าโรงพยาบาล เป็นกระบวนการพิจารณาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพ เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล จึงจัดว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ผู้มีหน้าที่ในการคัดเลือกยาเข้าโรงพยาบาล คือ คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutic Committee, PTC) ซึ่งจะมีเภสัชกรเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกยา ซึ่งต้องคำนึงถึงหลายประเด็น ได้แก่ ประโยชน์ของยาในการนำไปใช้ในทางคลินิก ประสิทธิภาพและความปลอดภัย คุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ยา รวมไปถึงราคายา นอกจากนี้จะต้องกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยาที่จะต้องจัดซื้อ โดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ ดังนั้นเภสัชกรจะต้องค้นคว้าและติดตามข่าวสารด้านยาอยู่เสมอ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดหาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการ PTC ซึ่งตัวอย่างข้อมูล ได้แก่ 1. ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิต โดยเฉพาะกระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) หรือไม่ 2. Certificate of analysis ของทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยา 3. ฉลากและบรรจุภัณฑ์มีมาตรฐานหรือไม่ 4. การศึกษา bioequivalence เป็นต้น ดังนั้น เภสัชกรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ดีพอ และสามารถอ่านและแปลผลรายงานข้อมูลดังกล่าว รวมไปถึงพิจารณาด้านราคายาเพื่อให้กระบวนการคัดเลือกยามีประสิทธิภาพ

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เห็นความสำคัญด้านการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์เป็นอย่างมาก เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม จึงได้มีการกำหนดจัดงานประชุมวิชาการ “WU Pharmacy Forum 2019: Good Pharmaceutical Procurement Practice” ระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมเอเชีย ถนน พญาไท เขต ราชเทวี จังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เภสัชกรได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์สมัยใหม่เพื่อการประเมินคุณภาพยาในกระบวนการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาเข้าโรงพยาบาล เทคนิค Multiple-criteria decision analysis (MCDA) เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาที่เหมาะสมต่อโรงพยาบาลและความรู้เรื่องพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อนำไปสู่การจัดซื้อเวชภัณฑ์ที่ดี
วัตถุประสงค์
1. เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ที่ทันสมัยให้แก่บุคลากรของสำนักวิชาฯและเภสัชกรทั่วไปรวมทั้งนักศึกษาและผู้สนใจ
2. เพื่อให้บริการวิชาการตามภารกิจหลักของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
3. เพิ่มบทบาทของสถาบันหลักการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
คำสำคัญ
การคัดเลือกยา (drug selection),คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutic Committee, PTC)
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://pharmacywucpe2019.weebly.com/