การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง Health aspects of quasi-vitamins
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง Health aspects of quasi-vitamins
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-019-07-2562
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 07 ก.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรชุมชนและเภสัชกรโรงพยาบาล และผู้สนใจ จำนวน 150 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันประชาชนมีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในทางเลือกของการดูแลสุขภาพที่สำคัญและเป็นที่นิยมแพร่หลาย คือ การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพและคาดหวังผลในการป้องกันโรค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดมีหลากหลาย ทั้งในลักษณะของสารอาหารและสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบในอาหาร สารอาหารที่นำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักเป็นพวกวิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยแต่ขาดไม่ได้ มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ ร่างกายจำเป็นต้องได้รับจากอาหารในปริมาณที่เพียงพอเพื่อป้องกันการขาด นอกจากนี้ยังมีสารเคมีบางประเภทในอาหารที่มีคุณสมบัติคล้ายวิตามิน (vitamin-like compounds หรือ quasi-vitamins) แต่ยังไม่จัดเป็นวิตามินอย่างแท้จริง เนื่องจากโดยปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากสารอาหารอื่นๆ เช่น กรดอะมิโน กลูโคส อย่างไรก็ตามในบางสภาวะ เช่น เกิดความเจ็บป่วย หรือการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารเหล่านี้ทำงานบกพร่อง สารคล้ายวิตามินเหล่านี้จะกลายเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่อร่างกาย และอาจจำเป็นหรือเกิดประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อได้รับในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารที่จัดเป็นสารคล้ายวิตามิน ได้แก่ คาร์นิทีน (carnitine) โคลีน (choline) โคเอนไซม์คิว 10 (coenzyme Q10) ไมโออิโนซิทอล (myo-inositol) กรดพาราอะมิโนเบนโซอิก (para-aminobenzoic acid) ไบโอเฟลวานอยด์ (bioflavonoids) และกรดอัลฟาไลโปอิก (alpha-lipoic acid) ซึ่งสารคล้ายวิตามินเหล่านี้ บางชนิดมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างชัดเจน แต่บางชนิดก็ยังขาดข้อมูลสนับสนุน ดังนั้น เมื่อมีการนำมาใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของเภสัชกรที่ต้องให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในแหล่งจำหน่ายที่สำคัญ คือ ร้านขายยา เภสัชกรชุมชนจึงควรมีความรู้ในเรื่องของอาหารและโภชนาการควบคู่ไปกับเรื่องยา และควรติดตามข้อมูลความก้าวหน้าด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรศึกษาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคทั้งประโยชน์ โทษ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องอันตรกิริยากับยาที่กำลังใช้อยู่ซึ่งอาจส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ได้ ข้อมูลเหล่านี้เภสัชกรเป็นผู้ที่มีบทบาทในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพร เพื่อประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วย
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับสารคล้ายวิตามินที่มีการศึกษาวิจัยรองรับและมีการใช้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างแพร่หลาย ได้แก่ bioflavonoids, coenzyme Q10 และ alpha-lipoic acid และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.pharm.chula.ac.th/ce) หรือโทรศัพท์ 02-218-8454 หรือ e-mail: ce@pharm.chula.ac.th โดยมีอัตราค่าลงทะเบียน ดังนี้ - อัตราค่าลงทะเบียน 1,300 บาท ลงทะเบียนและชำระเงินภายในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562 - อัตราค่าลงทะเบียน 1,800 บาท ชำระเงินหลังจากวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562