การประชุมวิชาการ
ประชุมวิชาการทางเภสัชกรรม ประจำปี 2562 : Smart Pharmacist “Update on pharmacotherapy for non-communicable disease (NCDs)”
ชื่อการประชุม ประชุมวิชาการทางเภสัชกรรม ประจำปี 2562 : Smart Pharmacist “Update on pharmacotherapy for non-communicable disease (NCDs)”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-009-03-2562
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุมคิงส์คาลกุสตาฟ ชั้น 3 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
วันที่จัดการประชุม 28 -29 มี.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรสาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาล สาขาเภสัชกรรมชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชนภาคใต้และเครือ BDMS ที่สนใจรวม 120 -150 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นั้นเป็นชื่อเรียก กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือ ติดต่อ ผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ หากแต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์วิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารหวานมันเค็มจัด และมีความเครียดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมักจะค่อยๆ มีอาการและรุนแรงขึ้นทีละน้อยหากไม่ได้มีการรักษาควบคุมองค์การอนามัยโลก(WHO) เล็งเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs นั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีสถิติผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปี 2552 (สำรวจ 4 ปี/ครั้ง) ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคในกลุ่มนี้ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน หรือคิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด และมากกว่าครึ่งเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 2 แสนล้านบาท/ปี
วิชาชีพเภสัชกรรมทั้งโรงพยาบาลและเภสัชกรรมร้านยา ถือเป็นหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อระบบบริการทางสุขภาพโดยปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ บทบาทของเภสัชกร ในการมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัยในด้านการใช้ยา ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ในโรงพยาบาล เช่น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนากร ดังนั้นการปฏิบัติงานของเภสัชกรให้มีประสิทธิภาพนั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ คือ การพัฒนาความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การปฏิบัติงานของเภสัชกรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากความสำคัญดังกล่าว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่ม 6 (ภาคใต้) ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลสิริโรจน์ โรงพยาบาลดีบุก จึงได้จัดประชุมวิชาการทางเภสัชกรรม ประจำปี 2562 : Smart Pharmacist “Update on pharmacotherapy for non-communicable disease (NCDs)” เพื่อการพัฒนาศักยภาพเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยโรค NCDs และเพื่อให้เภสัชกรที่เข้าประชุมได้รับฟังความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิชาการใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบถึงแนวทางการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรค NCDs ทั้งในประเทศไทยและที่เป็นสากล
2. เพื่อเป็นการพัฒนาสมรรถนะเภสัชกรรมคลินิค (Competency) ในการให้การบริบาลผู้ป่วยในโรค NCDs
3. เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายทางเภสัชกรรมในการดูแลผู้ป่วย ทั้งในเครือ BDMS และในเครือวิชาชีพเภสัชกรรมจากองค์กรต่างๆ
4. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของเภสัชกรในแต่ละสาขาและนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน
คำสำคัญ
NCDs, Non-Communicable diseases, กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง