การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนาสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้านการกำกับดูแลวัตถุอันตราย
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนาสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้านการกำกับดูแลวัตถุอันตราย
สถาบันหลัก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รหัสกิจกรรม 3001-2-000-001-01-2562
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
วันที่จัดการประชุม 10 -11 ม.ค. 2562
ผู้จัดการประชุม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กลุ่มเป้าหมาย เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่เกี่ยวข้อง
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 11 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีการมอบอำนาจโดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคให้ดำเนินงานภารกิจด้านวัตถุอันตรายบางส่วนแทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายอำนาจการบริหารราชการไปยังหน่วยงานราชการบริหารส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น โดยมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อดำเนินภารกิจเกี่ยวกับการอนุญาตบางส่วนแทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เช่น การรับแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตราย การออกใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการดำเนินการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อใช้รับจ้าง การต่ออายุใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งมีสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ ต่อมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีการออกประกาศมอบอำนาจเพิ่มเติม ได้แก่ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบแจ้งข้อเท็จจริงและการออกใบแทน การรับแจ้งการดำเนินการวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และการออกใบอนุญาตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สำหรับการ ผลิต นำเข้า ส่งออก จากเดิมที่มอบอำนาจเฉพาะการประกอบการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย และการรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะวัตถุอันตรายสำเร็จรูปที่แบ่งบรรจุเพื่อการส่งออกที่เคยได้รับขึ้นทะเบียนมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการขออนุญาตผลิตวัตถุอันตรายของผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค นอกจากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคยังมีอำนาจในการปฏิบัติการตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งและมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเกี่ยวกับการตรวจสอบเฝ้าระวังและการดำเนินคดี สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายมีการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดอบรมและการจัดทำคู่มือดำเนินงานต่าง ๆ และมีการจัดประชุมชี้แจง เรื่อง แนวทางการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕60 ซึ่งมีข้อซักถามเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินคดีด้านวัตถุอันตราย และผู้เข้าร่วมประชุมเสนอข้อคิดเห็นให้มีการอบรมความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตรายและชี้แจงการใช้ระบบ e-submission อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมักจะมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรที่รับผิดชอบ รวมทั้ง ยังพบว่ามีประเด็นสอบถามทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับการพิจารณาจำแนกชนิดผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย และข้อขัดข้องในการใช้ระบบ e-submission อยู่เป็นระยะ อีกทั้งปัจจุบันมีการปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ดังนั้น เพื่อให้งานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายมีประสิทธิผลครอบคลุมทั่วประเทศและเพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องกับส่วนกลางและกฎระเบียบที่ออกมาใหม่ สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จึงเห็นสมควรพัฒนาเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่องโดยจัดให้มีโครงการพัฒนาสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้านการกำกับดูแลวัตถุอันตรายเพื่อพัฒนาการดำเนินงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและเกิดความเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล
วัตถุประสงค์
1 เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้มีความรู้และทักษะในการดำเนินงานกำกับดูแลวัตถุอันตรายตามที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
2 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานกำกับดูแลวัตถุอันตราย
คำสำคัญ
การกำกับดูแลวัตถุอันตราย