บทคัดย่อ
การกำหนดขนาดยาในผู้ป่วยเด็กส่วนมากกำหนดเป็นขนาดยาต่อน้ำหนักผู้ป่วยต่อวัน (มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) หรือกำหนดขนาดยาต่อน้ำหนักผู้ป่วยต่อครั้ง (มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง) ในปัจจุบันพบปัญหาเด็กอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคอ้วนเป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ จึงมักมีคำถามเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำหนักตัวมาคำนวณขนาดยา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลนศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นในเด็กอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับยาภายในร่างกาย โดยผู้ป่วยอ้วนมักมีการกระจายตัวของยาที่ชอบละลายในไขมัน (lipophilic drugs) เพิ่มขึ้น และการกระจายตัวของยาที่ชอบละลายในน้ำ (hydrophilic drugs) อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นกับองค์ประกอบภายในร่างกาย รวมถึงค่าอัตราการกำจัดยา (clearance) ที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีน้อยโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยเด็กอ้วนได้รับขนาดยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เภสัชกรควรมีความเข้าใจในคุณสมบัติทางเคมีฟิสิกส์ของยา (physicochemical properties) และการเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลนศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นในเด็กอ้วน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้น้ำหนักตัวที่เหมาะสมมาใช้ในการคำนวณขนาดยา นอกจากนี้เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือการเกิดพิษจากการใช้ยา สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป ควรเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้ขนาดยาที่ได้รับมากกว่าขนาดยาสูงสุดที่กำหนดไว้สำหรับผู้ใหญ่ และสำหรับยาที่มีช่วงห่างของระดับยาในการรักษาแคบและสามารถเจาะวัดระดับยาในเลือดได้ ควรส่งตรวจวัดระดับยาในเลือด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
คำสำคัญ
ผู้ป่วยเด็กอ้วน, การเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลนศาสตร์, การกระจายยา, การคำนวณขนาดยา, การกำหนดขนาดยา