บทคัดย่อ
mHealth หรือ mobile Health เป็นการปฏิบัติงานด้านสุขภาพผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น โทรศัพท์มือถือของผู้ป่วย อุปกรณ์ผู้ช่วยดิจิตอลส่วนบุคคล (Personal Digital Assistant: PDAs) และอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ(1) โดยจัดเป็นส่วนประกอบหนึ่งใน electronic Health หรือ eHealth ซึ่งหมายถึง บริการสุขภาพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และการสื่อสารผ่านดาวเทียม
ในด้านตลาดไอซีทีระดับชาติและสหภาพ ICT โดยรวม พบว่าประเทศไทยมีความพร้อมของอุตสาหกรรม ICT อยู่ในระดับ 4.97 ถือเป็นลำดับที่ 3 ของอาเซียน และประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้บริการ e-Services ในด้านสาธารณสุขสูงที่สุดในอาเซียน (ร้อยละ 58) ในปัจจุบันเริ่มมีการนำ eHealth และ mHealth เข้ามาใช้ในประเทศไทย(2) โดยมีวัตถุประสงค์ เช่น เพิ่มการเข้าถึงการใช้ยา การรับบริการทางสุขภาพได้ง่ายขึ้น การคัดกรองโรคในร้านยา หรือเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย การใช้งาน mHealth ของเภสัชกรร้านยาในปัจจุบัน เช่น การค้นหาข้อมูลด้านยา การอัพเดทความรู้เกี่ยวกับโรคและแนวทางการรักษาให้ทันสมัย การคำนวณขนาดยา เป็นต้น มีรายงานการใช้ eHealth ว่าสามารถช่วยลดกรณีฉุกเฉินได้ถึงร้อยละ 60 ลดการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 40 อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ และเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัว(3) แต่การใช้ mHealth หรือ eHealth ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการควบคุมการใช้โมบายแอพพลิเคชันด้วยกฎหมาย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ และแนวโน้มในอนาคต คาดว่าจะมีการพัฒนารูปแบบของแอพพลิเคชัน จากการสอบถามความพึงพอใจการใช้งานในมุมมองของผู้ป่วยหรือเภสัชกรที่ใช้แอพพลิเคชันด้านสุขภาพ ดังนั้นการใช้ mHealth ในด้านเภสัชกรรม จึงเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจในการนำมาต่อยอดเพื่อสร้างโมบายแอพพลิเคชันให้ตรงกับความต้องการ และใช้ประโยชน์ได้จริงต่อไปในอนาคต