บทความวิชาการ
Wnt/beta-catenin signaling pathway กับเป้าหมายในการรักษาโรคกระดูกพรุน
ชื่อบทความ Wnt/beta-catenin signaling pathway กับเป้าหมายในการรักษาโรคกระดูกพรุน
ผู้เขียนบทความ ผศ.ดร.ภญ.ฉัตรวดี กฤษณพันธุ์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-1-000-003-12-2563
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 30 ธ.ค. 2563
วันที่หมดอายุ 29 ธ.ค. 2564
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะพบกระดูกที่เปราะบาง และเกิดการหักได้ง่าย เนื่องจากความหนาแน่นกระดูกน้อยลง และโครงสร้างของกระดูกอ่อนแอ กระบวนการ bone remodeling หรือการปรับแต่งกระดูกเป็นกระบวนการที่เกิดเป็นขั้นตอน โดยมีการสลายกระดูกเก่าด้วยเซลล์ osteoclasts และสร้างกระดูกใหม่ทดแทนด้วยเซลล์ osteoblasts ส่วน osteocytes ซึ่งเป็น osteoblasts ที่มีการเปลี่ยนสภาพหลังจาก osteoblasts ทำหน้าที่สร้างกระดูกเสร็จสิ้น จะทำหน้าที่รับรู้ความต้องการในการเกิดกระบวนการ bone remodeling และส่งสัญญาณถึง osteoblasts และ osteoclasts ด้วยการหลั่งสารควบคุมการเปลี่ยนสภาพของเซลล์จากเซลล์ต้นกำเนิด รวมทั้งควบคุมการทำงานด้วย ในสภาวะปกติกระบวนการ bone remodeling จะถูกควบคุมให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่ทดแทนในปริมาณที่เท่ากับกระดูกที่ถูกสลายไป ระบบสำคัญในการควบคุมกระบวนการ bone remodeling คือ RANK/RANKL/OPG system โดย RANKL จะจับกับ RANK และทำให้ pre-osteoclasts เกิดการพัฒนา และเปลี่ยนสภาพเป็น multinucleated และ mature osteoclasts ซึ่งทำหน้าที่สลายกระดูกได้ ในส่วน OPG จะเป็นตัวแย่งจับกับ RANKL ทำให้ RANKL จับกับ RANK ได้ลดลง และเกิด mature osteoclasts ลดลง และลดการสลายกระดูก ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับ Wnt/beta-catenin signaling pathway พบว่าหากมีโปรตีนในกลุ่ม Wnts จับกับตัวรับ จะกระตุ้นให้มี beta-catenin ในนิวเคลียสสูง และทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่มีผลทำให้เกิดการสร้าง mature osteoblasts มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการสร้าง OPG จึงเป็นการลดการสร้าง mature osteoclasts ด้วย ดังนั้นจึงทำให้เกิดการสร้างกระดูกมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าสารสำคัญที่ต้าน Wnt/beta-catenin signaling pathway คือ sclerostin ดังนั้น จึงได้มีการพัฒนายาที่เป็น anti-sclerostin antibody ขึ้น ยาที่ได้รับการยอมรับให้ใช้แล้วในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาคือ romosozumab ซึ่งพบว่าช่วยทำให้เกิดการสร้างกระดูกมากขึ้น ทำให้ BMD สูงขึ้น และลดการหักของกระดูกในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนระดับรุนแรงได้ แต่ยานี้ยังต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับการทำให้ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งการเกิดโรคมะเร็ง
คำสำคัญ
Wnt signaling pathway, โรคกระดูกพรุน