บทคัดย่อ
การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต จัดเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการรับบริจาคโลหิต หากการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้แน่ใจได้ว่าโลหิตมีคุณภาพ มีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งผู้บริจาคและผู้รับโลหิต ซึ่งจะพิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้บริจาค ได้แก่ อายุ น้ำหนักตัว สัญญาณชีพ (vital sign) ค่าของ Hemoglobin (Hb) และ Hematocrit (Hct) ระยะห่างระหว่างการบริจาคโลหิต ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร รวมถึงประวัติการใช้ยา
การสร้างระบบการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตที่มีความรัดกุม ปลอดภัย เป็นสิ่งที่ดีในการป้องกันโลหิตที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ แต่ในทางกลับกัน มีผู้บริจาคบางรายที่ถูกเลื่อนการบริจาคออกไป ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการเลื่อนการบริจาคเพียงชั่วคราว โดยที่ผู้บริจาคสามารถกลับมาบริจาคได้เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด แต่จากการศึกษา พบว่า ผู้บริจาคส่วนใหญ่ไม่ได้กลับมาบริจาคซ้ำ และในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 2001 ถึง 2006 ผู้บริจาคร้อยละ 12.8 จากทั้งสิ้น 48 ล้านคนถูกเลื่อนบริจาคโลหิต โดยจำนวน 650,000 ราย ถูกเลื่อนการบริจาคโดยมีสาเหตุจากความปลอดภัยของผู้รับบริจาค และจำนวน 1 ล้านราย ถูกเลื่อนการบริจาคโดยมีสาเหตุมาจากความปลอดภัยของตัวผู้บริจาคเอง
การเลื่อนการบริจาคโลหิต เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญเสียผู้บริจาคไปจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต จำเป็นที่จะต้องคัดเลือกให้มีความรอบคอบก่อนจะตัดสินใจเลื่อนการบริจาคออกไป เพื่อลดการสูญเสียผู้บริจาคโลหิตจากการเลื่อนการบริจาคโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณโลหิตสำรองในประเทศ หนึ่งในสาเหตุของการเลื่อนการบริจาคโลหิต คือ ประวัติการใช้ยาของผู้บริจาคโลหิต เนื่องจาก ระดับยาในกระแสเลือดของผู้บริจาคที่มีหลงเหลืออยู่นั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้รับโลหิต หรืออาจส่งผลต่อคุณภาพของโลหิตที่รับบริจาคได้ นอกจากนี้ ประวัติการใช้ยาของผู้บริจาคโลหิต จะช่วยบอกถึงสภาวะของผู้บริจาคว่า อยู่ในสภาวะที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิตอยู่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิตเอง เนื่องจาก การบริจาคโลหิตมีผลทำให้อาการของโรคบางโรคกำเริบหรือแย่ลงได้
เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้บริจาคและผู้รับโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้พัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตในกรณีมีการใช้ยา ฉบับปรับปรุง 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตในกรณีมีการใช้ยาแต่ละชนิด ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต สามารถใช้ประโยชน์ในการกำหนดระยะเวลาการเลื่อนการบริจาคโลหิตให้มีความเหมาะสม