บทคัดย่อ
บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง (non-communicable diseases) ที่สามารถป้องกันได้ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกปีละ 8 ล้านคน ในประเทศไทยบุหรี่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวน 72,656 คน ในปี 2560 โดยร้อยละ 49 เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับปอด ความรู้ทางเภสัชวิทยาในปัจจุบันช่วยอธิบายถึงการเสพติดบุหรี่ได้ 3 ประเด็นหลัก คือ บุหรี่และรูปแบบของผลิตภัณฑ์บุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ และกระบวนการทางเภสัชวิทยาและทางพฤติกรรมที่ทำให้ติดบุหรี่มีลักษณะเหมือนการติดยาอื่นๆ เช่น เฮโรอีนและโคเคน
การเสพติดบุหรี่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยทาง ความรู้ความเข้าใจ (cognition), พฤติกรรม (behavior), ชีววิทยา (biology) และ สังคม (society) ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ดังนั้นการเข้าใจการเสพติดบุหรี่ในหลายมิติจะสามารถออกแบบการรักษาการช่วยเหลืออย่างมีระบบได้ บทความนี้เน้นรวบรวมความรู้เกี่ยวข้องกับนิโคติน ซึ่งยังคงเป็นสารสำคัญในบุหรี่ทุกรูปแบบ ที่ก่อให้เกิดโรคที่สืบเนื่องจากการสูบบุหรี่ที่สำคัญ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง และอื่นๆ