ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568

บทความวิชาการ
เถาวัลย์เปรียง: แนวทางการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและสารสกัด
ชื่อบทความ เถาวัลย์เปรียง: แนวทางการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและสารสกัด
ผู้เขียนบทความ ภก.ปฐม โสมวงศ์
สถาบันหลัก ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
รหัสกิจกรรม 0001-1-000-004-12-2563
ผู้ผลิตบทความ วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 16 ธ.ค. 2563
วันที่หมดอายุ 15 ธ.ค. 2564
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ เถาวัลย์เปรียง (Derris scandens (Roxb.) Benth.) เป็นพืชสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในรายการบัญชียาจากสมุนไพร ซึ่งพบว่า มีการกำหนดพืชสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ในรายการยาสำหรับรับประทานเพื่อรักษาโรคในกลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ในรายการยาดังกล่าวนี้พบว่าเถาวัลย์เปรียงมีการใช้ทางคลินิกในรูปแบบของผงพืชแห้งบรรจุแคปซูลและสารสกัดบรรจุแคปซูล ซึ่งเป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูป ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ ด้วยรายงานวิจัยสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงในปัจจุบัน พบว่าส่วนลำต้นของพืชชนิดนี้มีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพเป็นองค์ประกอบทางเคมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ benzyl derivatives, coumarins, flavonoids, steroids และ terpenoids และยังมีการค้นพบว่าสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นรายงานวิจัยทางคลินิกที่ได้ศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์แคปซูลเถาวัลย์เปรียงที่เป็นยาแผนโบราณ ในการต้านอาการอักเสบของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยกลุ่มยา NSAIDs ซึ่งผลการวิจัยได้ระบุว่าการใช้ยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงและการใช้ยา NSAIDs ในผู้ป่วยโรคดังกล่าวให้ประสิทธิผลทางคลินิกไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยที่พบว่าสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงแสดงฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองอีกด้วย ซึ่งนับว่าเถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่มีรายงานวิจัยบ่งชี้ในเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ในการรักษาตามตำรายา และมีแนวโน้มที่จะสามารถนำไปต่อยอดในการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้รักษาโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งด้วย อย่างไรก็ตามการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง จำเป็นต้องมีการกำหนดชนิดและปริมาณสารสำคัญทางเคมีที่จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ดังที่ปรากฏในข้อกำหนดมาตรฐาน (monograph) สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง สารสกัด และผลิตภัณฑ์เถาวัลย์เปรียงแคปซูล ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน Thai Herbal Pharmacopoeia (THP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้ให้รายละเอียดมาตรฐานสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง และตัวยาสำคัญในสมุนไพร รวมถึงวิธีการวิเคราะห์ทางเคมีโดยละเอียด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร ตลอดจนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแก่ผู้ผลิตและยังเป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสมุนไพรชนิดนี้ในแง่อื่นๆด้วย ซึ่งเนื้อหาในบทความทบทวนวิชาการนี้ ได้ให้รายละเอียดในส่วนของวิธีการวิเคราะห์สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงอ้างอิงจาก monograph ของ Thai Herbal Pharmacopoeia ด้วย
คำสำคัญ
เถาวัลย์เปรียง การควบคุมคุณภาพ วัตถุดิบ สารสกัด ผลิตภัณฑ์แคปซูล