บทความวิชาการ
ยาใหม่และยาปัจจุบันที่ใช้รักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน
ชื่อบทความ ยาใหม่และยาปัจจุบันที่ใช้รักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน
ผู้เขียนบทความ รองศาสตราจารย์ ภญ. ปาจรีย์ ศรีอุทธา
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-1-000-003-11-2563
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 30 ต.ค. 2563
วันที่หมดอายุ 29 ต.ค. 2564
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ไมเกรนเป็นชนิดของอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย ยาทางเลือกแรกสำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนระดับน้อยถึงปานกลาง ตามแนวเวชปฏิบัติของ the American Headache Society (AHS) ปี ค.ศ. 2019 ได้แก่ การใช้อะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ในขณะที่ยากลุ่ม triptans หรือ ergots ใช้สำหรับอาการปวดระดับปานกลางขึ้นไป ยาในกลุ่ม triptans มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้และมีข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวผ่านการกระตุ้นตัวรับ serotonin receptor subtype 1B (5-HT1B) หลักในการเลือกใช้ยาควรคำนึงถึงลักษณะของการเกิดอาการปวดศีรษะ ผลกระทบต่อการทำงานหรือประกอบกิจวัตรประจำวัน อาการคลื่นไส้ ลักษณะของเวลาที่อาการปวดเกิดขึ้น ในปัจจุบันมียาใหม่ที่ออกฤทธิ์ด้วยกลไกที่แตกต่างไปจากเดิม ได้แก่ ยากลุ่ม serotonin receptor subtype 1F (5-HT1F) receptor agonists ได้แก่ lasmiditan และยากลุ่ม calcitonin gene-related peptide (CGRP) receptor antagonists ได้แก่ rimegepant และ ubrogepant แม้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย แต่ยากลุ่มใหม่นี้อาจเป็นทางเลือกในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อ triptans หรือมีข้อห้ามใช้ เนื่องจากยามีกลไกการออกฤทธิ์ใหม่ซึ่งไม่ได้มีผลทำให้หลอดเลือดสมองหดตัวโดยตรง จึงมีศักยภาพนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาไมเกรนในปัจจุบันและให้ข้อมูลของยาใหม่โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ กลไกการออกฤทธิ์ ประสิทธิผลทางการรักษา อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ
คำสำคัญ
ไมเกรน, triptans, lasmiditan, rimegepant, ubrogepant