บทคัดย่อ
บทนำ
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความหมายของผู้สูงอายุอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป1 ผลสำรวจอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 16.73 ของประชากรทั้งประเทศ2 และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในทุกปี
สำหรับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (rational drug use) นั้น องค์การอนามัยโลก3 ให้คำจำกัดความของ “การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (rational drug use) ไว้ คือ “ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพ โดยใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายต่อชุมชนและผู้ป่วยน้อยที่สุด” สำหรับประชากรกลุ่มผู้สูงอายุจัดอยู่ในประชากรกลุ่มพิเศษและเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบกลไกการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อีกทั้งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยาได้มากกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ เสื่อมประสิทธิภาพไปตามวัยที่มากขึ้นประกอบกับผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่จึงมีการใช้ยาหลายชนิด และเป็นการใช้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่มากขึ้น และอันตรกิริยาระหว่างยากับยา (drug-drug interaction) เพิ่มขึ้นอีกด้วย
เภสัชกรเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญ ในการดูแล ป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสุขภาพรวมถึงปัญหาการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรชุมชนที่จะมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุดจึงควรตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงข้อควรระวังในการใช้ยาชนิดต่างๆเพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาควบคู่ไปกับความปลอดภัย