บทคัดย่อ
ในอดีต เรื่องราวเกี่ยวกับ HLA ค่อนข้างไกลตัวเภสัชกร เมื่อได้ยินเรื่องของ HLA มักนึกถึงการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคจะต้องมี HLA แอนติเจนที่ตรงกันจึงจะปลูกถ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกถ่ายไต ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือแม้แต่การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด แต่ในปัจจุบันนี้เมื่อความรู้ก้าวหน้ามากขึ้นและพบความสัมพันธ์ระหว่างยีน HLA กับการแพ้ยาบางชนิด ซึ่งมีทั้งการแพ้ยาชนิดที่รุนแรงและไม่รุนแรง ในทางคลินิกมีการประยุกต์ใช้ยีน HLA เป็นตัวบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรง เช่น HLA-B*15:02 กับการแพ้ยาชนิด SJS/TEN จากยา carbamazepine และ HLA-B*58:01 กับการเกิด allopurinol-induced hypersensitivity เป็นต้น ซึ่งมีการนำไปใช้แล้วในหลายโรงพยาบาลทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เภสัชกรต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ HLA, ทราบที่มาของผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ, และกลไกการเหนี่ยวนำการแพ้ยา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไป