บทคัดย่อ
สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มสมาชิกขององค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development / OECD) และพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538–2556 ประเทศไทยมีร้อยละค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและยาเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และร้อยละค่าใช้จ่ายด้านยาเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมการจัดซื้อจัดหายาเป็นหนึ่งในกิจกรรมของระบบการจัดการด้านยา ที่มีผลช่วยให้การจัดซื้อจัดหายาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ โดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและซัพพลายเออร์ในระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย 6 มิติ ได้แก่ ความไว้วางใจ อำนาจและการพึ่งพา ความมุ่งมั่น การแบ่งปันข้อมูล ความร่วมมือ และการสื่อสาร กระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่ความสามารถในการลดต้นทุนต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจลงได้ เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องเสียไปสำหรับใช้สำรองยาปริมาณมากให้เพียงพอต่อการใช้ ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมพิเศษสำหรับการขนส่งในกรณีเร่งด่วนหรือมีการเปลี่ยนแปลงกระทันหันของมูลค่ายา ซึ่งท้ายที่สุด การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ในกระบวนการจัดซื้อจัดหาจะส่งผลต่อการลดลงของราคายาที่องค์กรต้องรับภาระเพื่อจัดสรรยาให้แก่คนไข้