บทคัดย่อ
ปกติร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ดี สามารถต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดอันตรายจากภายนอกได้ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส อนุมูลอิสระ และโปรโตซัว เป็นต้น ในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายทำได้หลายวิธีร่วมกัน ตั้งแต่การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ได้รับอากาศที่ดี ขจัดความเครียด และการกินอาหารที่ดี แต่เมื่อไรก็ตาม หากร่างกายได้รับแอนติเจน (antigen) โดยเฉพาะเชื้อโรคแบคทีเรีย และไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ 1 ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด หรือภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ (innate immunity) และชนิดที่ 2 ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (acquired immunity) โดยชนิดที่ 1 เป็นการป้องกันสิ่งแปลกปลอมด้วยสารเคมีหรือลักษณะกายวิภาคของร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำตา และผิวหนัง เป็นต้น ในขณะที่ชนิดที่ 2 เป็นการป้องกันร่างกายด้วยการสร้างสารแอนติบอดี (antibody) ที่ผลิตจากบีลิมโฟไซต์ (B lymphocyte) และสร้างสารสื่อในการกำจัดเชื้อโรคจากการกระตุ้นทีลิมโฟไซต์ (T lymphocyte) เช่น เซลล์เพชฌฆาต (natural killer cell; NK cell) แมโครฟาจ (macrophage) ซึ่งต่อต้านโรคแบบจำเพาะ [1] ในขณะที่สิ่งแปลกปลอมอื่น เช่น อนุมูลอิสระ (free radical) ซึ่งเป็นสารที่มีความเสถียรต่ำ สามารถทำปฏิกิริยากับสารชีวโมเลกุลในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน รวมถึงสารพันธุกรรมดีเอ็นเอในร่างกาย [2] สารอนุมูลอิสระนี้ถ้ามากเกินไปทำให้ร่างกายมีความอ่อนแอในการต้านเชื้อโรค จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าการที่ร่างกายมีความแข็งแรงต่อต้านสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ได้นั้น ต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย ถ้าปัจจัยภายในร่างกายไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ปัจจัยภายนอกในการช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง โดยใช้พืชผักต่าง ๆ ที่มีคุณประโยชน์ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชผักผลไม้ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์จำนวนมาก เห็นได้จากในแต่ละภูมิภาคมีพืชผักเฉพาะถิ่น ซึ่งใช้ในการประกอบอาหารมาอย่างยาวนาน เช่น แกงเหลืองของภาคใต้ แกงผักเชียงดาใส่ปลาย่างของภาคเหนือ แกงเลียงของภาคกลาง และแกงหน่อไม้ใบย่านางของภาคอีสาน เป็นต้น ซึ่งต่อมาผักต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบอาหารนี้ ได้มีการพิสูจน์คุณค่าด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย ทั้งในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และอนุมูลอิสระ
จากข้อมูลของผักพื้นบ้านข้างต้น จึงมีงานวิจัยของผักพื้นบ้านในภาคต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ที่สามารถอธิบายได้ว่า สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค และยังมีหลักฐานการใช้ในตำรายาพื้นบ้านด้วย โดยบทความผักพื้นบ้านสี่ชนิด ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และต้านจุลชีพนี้ จะกล่าวถึงผักพื้นบ้านที่ใช้เป็นอาหาร ได้แก่ พลูคาว ผักกระโฉม ผักแขยง และ บวบหอม ซึ่งมีรายงานวิจัยแสดงฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต่อต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อจุลชีพ ซึ่งข้อมูลผักพื้นบ้านที่คัดเลือกมานี้ จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยกลับมาใส่ใจ รู้คุณค่า และตระหนักถึงความสำคัญของผักพื้นบ้านไทยที่มีประโยชน์ไม่แพ้ผักต่างชาติให้มากขึ้น และด้วยสถานการณ์ของโรคไวรัสโคโรนาชนิดที่ 2 หรือ Coronavirus Disease-2019 (COVID-19) จะพบว่ามีกล่าวถึงสมุนไพรบางอย่างที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ แต่กลับมีนำข้อมูลพื้นฐานไปโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริงส่งผลให้ราคาสมุนไพรนั้นสูงเกินกว่าผู้บริโภคจะเอื้อมถึง ดังนั้นผู้เขียนบทความนี้จึงอยากให้ประชาชนได้รู้คุณประโยชน์ผักสมุนไพรพื้นบ้านอื่น ๆ ที่หาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องซื้อหาด้วยราคาแพง เพียงรับประทานเป็นอาหารก็มีคุณค่าเป็น ยา แล้ว