บทคัดย่อ
โรคจิตเภทคือโรคทางจิตเวชที่มีความผิดปกติของความคิด การรับรู้และพฤติกรรม อาการทางคลินิกสำคัญเช่น อาการด้านบวก (อาทิ อาการหลงผิด ประสาทหลอน) อาการด้านลบ (อาทิ ไม่มีแรงจูงใจหรือเฉื่อยชาลง ภาวะสิ้นยินดี) และการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดการรับรู้ พยาธิสรีรวิทยาของโรคจิตเภทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและหน้าที่ของสมองหลายบริเวณ โดยพบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบสารสื่อประสาทหลายระบบเช่น dopamine, glutamate และ serotonin ก่อให้เกิดสมมติฐานของโรคจิตเภทจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท ซึ่งอธิบายกลไกของโรคได้บางส่วนโดยเฉพาะอาการด้านบวก ปัจจุบัน ยารักษาโรคจิตแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ conventional antipsychotics และ atypical antipsychotics ซึ่งมีความแตกต่างกันทางเภสัชวิทยา โดย conventional antipsychotics ออกฤทธิ์โดยการยับยั้ง D2 receptor เป็นหลัก ในขณะที่ atypical antipsychotics ออกฤทธิ์โดยการยับยั้ง D2 receptor ร่วมกับ 5-HT2A receptor เป็นหลัก ยาทั้งสองกลุ่มจึงมีผลทางคลินิกที่แตกต่างกันโดยเฉพาะอาการไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่ม atypical antipsychotics แต่ละตัวมีความแตกต่างกันอย่างมากในด้านโครงสร้างเคมี ความสามารถในการจับกับตัวรับ และผลข้างเคียง สะท้อนถึงความซับซ้อนในการใช้ยาเพื่อรักษาโรคจิตเภท
คำสำคัญ
โรคจิตเภท, conventional antipsychotics, atypical antipsychotics, อาการไม่พึงประสงค์ของยา