บทคัดย่อ
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันและเอนไซม์ในกระบวนการส่งสัญญาณ (signaling pathways) ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกระดูก มีลักษณะเฉพาะคือ การอักเสบรุนแรงของข้อโดยเฉพาะข้อขนาดเล็ก เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า มักเกิดแบบสมมาตร (symmetry) ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลให้ข้อถูกทำลายและเกิดความพิการตามมาได้ ทั้งนี้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มิได้พบความผิดปกติเฉพาะบริเวณข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น ร่วมด้วย ยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (disease modifying antirheumatic drugs: DMARDs) ถือเป็นยาหลักที่ผู้ป่วยที่โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ทุกรายควรได้รับตั้งแต่ให้การวินิฉัย อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคชนิดมาตรฐาน (traditional disease modifying anti-rheumatic drugs: tDMARDs) หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาจนไม่สามารถใช้ยาได้ จึงพยายามพัฒนายา DMARDs กลุ่มใหม่ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้น สามารถชักนำโรคเข้าสู่ระยะสงบ (disease remission) หรือโรคมีภาวะการอักเสบในระดับต่ำ (low disease activity) ได้มากขึ้น ลดการทำลายข้อ ลดโอกาสเกิดความพิการและข้อผิดรูป และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น