บทคัดย่อ
การชักสิ่งตัวอย่างเพื่อการยอมรับ (acceptance sampling) เป็นการดำเนินการวางแผนโดยอาศัยหลักสถิติเพื่อพิสูจน์ว่ากระบวนการผลิตที่มีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพโดยมีความน่าจะเป็นทางสถิติสูงที่จะมีสัดส่วนความบกพร่อง (fraction defective) ของรุ่นการผลิตไม่เกินขอบเขตที่ยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นวิธีการทางสถิติอีกวิธีหนึ่ง ที่นำมาใช้ร่วมกับการสร้างแผนภูมิควบคุมคุณภาพ (quality control chart) และการหาความสามารถของกระบวนการ (process capability) การวางแผนการชักสิ่งตัวอย่างเพื่อการยอมรับอาศัยหลักการทางสถิติของความน่าจะเป็น (probability) ของการยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีความบกพร่องไม่เกินสัดส่วนที่ยอมรับได้ค่าหนึ่งซึ่งกำหนดขึ้นโดยผู้ผลิตเมื่อกำหนดจำนวนของตัวอย่างที่สุ่ม ซึ่งจำนวนตัวอย่างดังกล่าวขึ้นกับขนาดการผลิตของรุ่นการผลิต นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงระดับการยอมรับได้ของผู้บริโภคต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย บทความนี้กล่าวถึงชนิดและวิธีการของการชักสิ่งตัวอย่างเพื่อการยอมรับ ตลอดจนแสดงกรณีตัวอย่างของการวางแผนการชักสิ่งตัวอย่างแบบชั้นเดียว (acceptance single sampling plan) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบตามข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ตรวจวัดว่าเป็นข้อมูลเชิงลักษณะ (attribute data) หรือข้อมูลผันแปร (variable data) โดยอาศัยหลักความน่าจะเป็นในการสร้างเส้นโค้งลักษณะเฉพาะการดำเนินการ (operating characteristic curve) ซึ่งเป็นตัวแทนของความน่าจะเป็นในการยอมรับรุ่นการผลิตที่มีค่าสัดส่วนความบกพร่อง (fraction defective) ต่างกัน ซึ่งลักษณะของเส้นโค้งนี้จะต่างกันเมื่อกำหนดจำนวนตัวอย่างที่สุ่มต่างกัน นอกจากนั้นจะอธิบายถึงวิธีการวางแผนการชักสิ่งตัวอย่างเพื่อการยอมรับตามมาตรฐานของ American National Standards Institute (ANSI)/American Society for Quality (ASQ) ได้แก่ ANSI/ASQ Z1.4 สำหรับข้อมูลเชิงลักษณะและ ANSI/ASQ Z1.9 สำหรับข้อมูลผันแปร