บทคัดย่อ
โรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากชุมชน (community-acquired pneumonia; CAP) เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งแนวทางเวชปฏิบัติที่มักถูกใช้เป็นกรอบในการจัดการผู้ป่วย CAP ได้แก่ แนวทางการรักษาโดย American Thoracic Society และ Infectious Diseases Society of America (ATS/IDSA) ค.ศ. 20071 (พ.ศ. 2550) ซึ่งแนวทางเวชปฏิบัติฉบับดังกล่าวอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการเดิมที่มีอยู่เมื่อ 12 ปีก่อน ซึ่งช่วงเวลาหลังจากการเผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติดังกล่าวจนถึงปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มเติมขึ้นทั้งในแง่ของการวินิจฉัยโรคและการจัดการด้านยา ทำให้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ATS/IDSA ได้เผยแพร่แนวทางในการรักษาโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากชุมชนฉบับใหม่2 ซึ่งปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคำแนะนำให้สอดคล้องตามข้อมูลจากหลักฐานทางวิชาการที่เป็นปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามแนวทางการรักษาฉบับนี้ครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีโรคปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชน ที่ไม่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำโดยมีสาเหตุจากยา ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีระดับ CD4 ต่ำ และผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของคำแนะนำระหว่างแนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากชุมชนโดย ATS/IDSA ค.ศ. 2007 และค.ศ. 2019 พร้อมทั้งนัยยะต่อการดูแลผู้ป่วย CAP ในประเทศไทยและการพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการทำ antibiotic stewardship program