บทคัดย่อ
ภาวะสับสนเป็นกลุ่มอาการทางคลินิกที่เกิดในระยะเวลาสั้น มีความแปรผันของอาการในแต่ละช่วงเวลา สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งภาวะสับสนมีพยาธิกำเนิดสัมพันธ์กับสมองส่วนต่างๆ หลายระบบ ร่วมกับมีปัจจัยเหนี่ยวนำหรือปัจจัยกระตุ้น และส่งผลรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทชนิดต่างๆ ในระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะ acetylcholine สำหรับการวินิจฉัยภาวะสับสนจะพิจารณาการประเมินความรู้สึกตัวของผู้ป่วยโดยใช้ Richmond agitation-sedation scale ร่วมกับการประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์วินิจฉัยมาตรฐาน สำหรับการรักษาภาวะสับสนให้มีประสิทธิภาพควรประกอบด้วยการวิเคราะห์หาสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดภาวะสับสน แล้วแก้ไขที่สาเหตุ ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบที่เกิดจากภาวะสับสน และการรักษาตามอาการเพื่อควบคุมอาการ รวมถึงการป้องกันการเกิดภาวะสับสน ซึ่งการเลือกใช้ยาสำหรับรักษาอาการสับสนหรือป้องกันการเกิดภาวะสับสนนั้น จะพิจารณาเลือกยาตามความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละรายควบคู่กันกับการรักษาแบบไม่ใช้ยา