บทความวิชาการ
Certolizumab pegol สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเรื้อรังระดับปานกลางถึงรุนแรง
ชื่อบทความ Certolizumab pegol สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเรื้อรังระดับปานกลางถึงรุนแรง
ผู้เขียนบทความ ภญ.ศตพร สามชัยวัฒนา และ อ.ภญ.สิรนันท์ กลั่นบุศย์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-1-000-001-07-2562
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 19 ส.ค. 2562
วันที่หมดอายุ 18 ส.ค. 2563
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังและมีความเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทางเลือกหนึ่งของการรักษาคือ การใช้ยาที่เป็นชีววัตถุ (biologic agents) ซึ่งปัจจุบันมียาชีววัตถุหลายตัวที่ใช้การรักษาโรคสะเก็ดเงิน ซึ่ง Certolizumab pegol (CZP) เป็นยาชีววัตถุ ในกลุ่ม anti-TNF-α monoclonal antibody ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) สำหรับข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเรื้อรังในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง (moderate to severe chronic plaque psoriasis) ในปี ค.ศ.2018 การที่ CZP มีโครงสร้างที่แตกต่างจากยาชนิดอื่นในกลุ่ม anti-TNF-α monoclonal antibody ทำให้ยามีคุณสมบัติดีขึ้นคือ ไม่กระตุ้นให้เกิด antibody-dependent cellular cytotoxicity และ complement activation รวมถึงไม่เกิดการ apoptosis ของ T-cell หรือ macrophages นอกจากนี้ CZP มีคุณสมบัติผ่านรกได้เพียงเล็กน้อย และมีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวนานถึง 14 วัน การบริหารยาทำโดยการให้ยาห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ การศึกษาด้านประสิทธิภาพทางคลินิก พบว่าการให้ยา CZP ขนาด 200 มิลลิกรัม (mg) และ 400 mg ทุก 2 สัปดาห์ให้ผลการรักษาที่ดีกว่ายาหลอก และไม่ด้อยไปกว่าการใช้ Etanercept ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเรื้อรังในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยของ CZP คือ ช่องจมูกและคอหอยอักเสบ (nasopharyngitis) และการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection, URI) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและควรเฝ้าระวังในการใช้ยา คือ การติดเชื้อที่รุนแรงแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อวัณโรค
คำสำคัญ
Certolizumab pegol, Anti-TNF agents, โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาเรื้อรัง