บทความวิชาการ
ฟิล์มละลายเร็ว: ระบบนำส่งยาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ
ชื่อบทความ ฟิล์มละลายเร็ว: ระบบนำส่งยาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ
ผู้เขียนบทความ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอรลักษณา แพรัตกุล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รหัสกิจกรรม 1017-1-000-001-01-2562
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 31 ม.ค. 2562
วันที่หมดอายุ 30 ม.ค. 2563
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ฟิล์มละลายเร็วเป็นรูปแบบยาของแข็งที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการให้ยาทางปากโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ ซึ่งมีปัญหาการกลืนยาลำบาก เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีปัญหาความร่วมมือในการให้ยา เช่น ผู้ป่วยจิตเวช การออกแบบตำรับฟิล์มละลายเร็วเป็นการพัฒนาต่อยอดจากรูปแบบยาเม็ดแตกตัวเร็ว ซึ่งยาทั้งสองรูปแบบนี้ ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้อย่างสะดวกโดยไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำตาม เทคโนโลยีการผลิตฟิล์มละลายเร็วมีพัฒนาการมาจากการผลิตแผ่นฟิล์มที่ใช้ในช่องปากประเภทแผ่นระงับกลิ่นปาก การตั้งตำรับอาศัยสารกลุ่มพอลิเมอร์ละลายน้ำได้ ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักคือเมทริกซ์ของแผ่นฟิล์ม ในด้านการออกฤทธิ์ รูปแบบยานี้ให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว ทั้งฤทธิ์เฉพาะที่หรือฤทธิ์ทั่วกาย และยังสามารถออกแบบให้เป็นระบบยึดติดเยื่อเมือก ทำให้ระบบคงอยู่ในช่องปากได้เป็นเวลานานและทยอยปลดปล่อยยา จึงช่วยเพิ่มระยะเวลาออกฤทธิ์ นอกจากนี้รูปแบบฟิล์มละลายเร็วยังมีข้อดีที่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงยาในตับก่อนเข้าสู่กระแสเลือดได้ส่วนหนึ่ง และสามารถใช้ในการนำส่งตัวยาสำคัญที่มีข้อบ่งใช้หลากหลาย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการค้าหลายชนิด ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์และยาซื้อใช้เองได้ บทความนี้กล่าวถึงรูปแบบยาฟิล์มละลายเร็วชนิดรับประทานที่ใช้ทางเภสัชกรรม ได้แก่ นิยาม ศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวข้อง ข้อดี-ข้อเสีย เทคนิคการตั้งตำรับ ส่วนประกอบในตำรับ กรรมวิธีเตรียม การประเมิน บรรจุภัณฑ์ และตัวอย่างเภสัชภัณฑ์ทางการค้า
คำสำคัญ
ฟิล์มละลายเร็ว, ฟิล์มแตกตัวเร็ว, ผู้ป่วยเด็ก, ผู้ป่วยสูงอายุ, การกลืนลำบาก