บทความวิชาการ
ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ชื่อบทความ ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ผู้เขียนบทความ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.สิริพรรณ พัฒนาฤดี และอาจารย์ เภสัชกรหญิง สิรนันท์ กลั่นบุศย์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-1-000-002-01-2562
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 14 ม.ค. 2562
วันที่หมดอายุ 13 ม.ค. 2563
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension; OH) ที่พบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งจัดเป็นชนิด neurogenic orthostatic hypotension โดยเกิดจากการหลั่ง norepinephrine จากเซลล์ประสาทซิมพาเทติก (sympathetic neurons) ไม่เพียงพอขณะอยู่ในท่ายืน ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำขณะอยู่ในท่ายืน และภาวะ OH ที่พบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจเกี่ยวข้องกับการที่ผู้ป่วยมีปัจจัยส่งเสริมทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เช่น การสูญเสียน้ำในหลอดเลือด และการได้รับยาบางชนิดที่มีผลลดความดันโลหิต สำหรับข้อมูลในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบว่ายารักษาโรคพาร์กินสัน ได้แก่ levodopa, ยากลุ่ม dopamine agonists และ selegiline ทำให้เกิดภาวะ OH ได้ โดยความรุนแรงและระยะเวลาการเกิดหลังได้รับยาแตกต่างกัน ส่วนยาอื่นนอกเหนือจากยารักษาโรคพาร์กินสันที่พบข้อมูลว่าทำให้เกิด OH คือ ยากลุ่ม diuretics ในการจัดการภาวะ OH ที่พบในผู้ป่วยโรคพาร์กันสันทำโดยการกำจัดปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะ OH และการรักษาภาวะ OH ด้วยการใช้ยา โดยยาที่นำมาใช้ในการรักษาภาวะ OH เป็นยาที่มีผลเพิ่มปริมาณน้ำในหลอดเลือดและมีผลเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย ได้แก่ fludrocortisone, midodrine และยาอื่นๆ เช่น erythropoietin ส่วนยาใหม่ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2014 สำหรับข้อบ่งใช้รักษา neurogenic OH คือ droxidopa ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ของ catechol-amino acid และถูกเปลี่ยนในร่างกายให้เป็น norepinephrine โดยผลของ droxidopa จากการศึกษาทางคลินิกใน phase ที่ 3 พบว่าเป็นยาที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาระยะสั้น แต่ยังไม่พบประสิทธิผลในการรักษาระยะยาว
คำสำคัญ
ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า, โรคพาร์กินสัน, การจัดการโดยไม่ใช้ยา, การจัดการโดยใช้ยา