บทความวิชาการ
Safinamide กับการรักษาโรคพาร์กินสัน
ชื่อบทความ Safinamide กับการรักษาโรคพาร์กินสัน
ผู้เขียนบทความ ภก. พิชัย ชัยชนะชัยชาญ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
รหัสกิจกรรม 1014-1-000-002-05-2561
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 21 พ.ค. 2561
วันที่หมดอายุ 20 พ.ค. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของเซลล์ประสาท (neurodegenerative disease) ที่พบมากเป็นอันดับสองของโลก ในปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุเกิดมาจากการตายของเซลล์ประสาทที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน (dopaminergic neurons) ทำให้มีระดับของสารสื่อประสาทโดปามีนลดลง ส่งผลให้เกิดอาการแสดงทางคลินิก ได้แก่ อาการทางด้านการเคลื่อนไหว (motor symptoms) และอาการที่ไม่ใช่อาการด้านการเคลื่อนไหว (non-motor symptoms) ยา safinamide เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(USFDA) โดยใช้เป็นยาเสริม (add-on therapy) แก่ผู้ป่วยที่ได้รับยา levodopa ขนาดคงที่และเกิด wearing off phenomenon ยา safinamide มีกลไกการออกฤทธิ์คือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ monoamine oxidase B แบบผันกลับได้ (reversible MAO-B inhibitor) ซึ่งมีข้อดี คือ มีความเลือกจับ (selectivity) ต่อ MAO-B มากกว่ายาอื่นๆ ในกลุ่ม และไม่จำเป็นต้องควบคุมการรับประทานยากับอาหารที่มีไทรามีนสูง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของยา safinamide ต่อการป้องกันการตายของเซลล์ประสาทในสัตว์ทดลอง (neuroprotective effects) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคพาร์กินสันด้วยสาร 1-methyl-4-phenyl-1,2,3,6-tetrahydropyridine (MPTP) อย่างไรก็ตามยา safinamide อาจจะมีฤทธิ์อื่นๆ เช่น ลดอาการปวด ลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากยามีกลไกการออกฤทธิ์อื่นๆ เช่น ยับยั้งการหลั่งกลูตาเมท (glutamate) ปิดกั้นตัวรับของโซเดียมไอออนและแคลเซียมไอออน (sodium and N-type calcium channels) ซึ่งยังต้องศึกษาในทางคลินิกต่อไปในอนาคต
คำสำคัญ
safinamide, Parkinson’s disease, MAO-B inhibitors