บทความวิชาการ
จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ตอน 1 กระบวนการดำเนินการงานด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม
ชื่อบทความ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ตอน 1 กระบวนการดำเนินการงานด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม
ผู้เขียนบทความ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-1-000-004-12-2560
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 25 ธ.ค. 2560
วันที่หมดอายุ 24 ธ.ค. 2561
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
สภาเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหลักในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 เพื่อทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจำนวน 38,324 คน (ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2560) ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วย จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 กำหนดกระบวนการพิจารณาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรา 34 ถึงมาตรา 43 โดยเริ่มจากผู้เสียหายหรือผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ส่งเรื่องร้องเรียนกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมายังสภาเภสัชกรรม คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมจะส่งคดีจรรยาบรรณที่ร้องเรียนไปยังคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณดำเนินการพิจารณาเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงและเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม เมื่อคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมพิจารณาตัดสินว่าคดีมีมูล คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมจะส่งคดีจรรยาบรรณต่อไปยังคณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการพิจารณาเพื่อสอบสวนวินิจฉัยและเสนอการลงโทษ เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมจะพิจารณาและมีมติให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ (1) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ (2) ว่ากล่าวตักเตือน (3) ภาคทัณฑ์ (4) พักใช้ใบอนุญาตมีกําหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสองปี และ (5) เพิกถอนใบอนุญาต
คำสำคัญ
คดี จรรยาบรรณ วิชาชีพเภสัชกรรม