บทความวิชาการ
เทคนิคการกลบรสและประเมินการกลบรสสำหรับยารูปแบบของแข็งในอุตสาหกรรมยา
ชื่อบทความ เทคนิคการกลบรสและประเมินการกลบรสสำหรับยารูปแบบของแข็งในอุตสาหกรรมยา
ผู้เขียนบทความ ภญ. ลลิลทิพย์ สุทธาพิทักษ์สกุล และ ภก. ศ. ดร. พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2004-1-000-005-11-2560
ผู้ผลิตบทความ สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 27 พ.ย. 2560
วันที่หมดอายุ 26 พ.ย. 2561
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ยารูปแบบแตกตัวในช่องปากทั้งแบบเม็ดและแผ่นฟิล์ม ยาเม็ดอมและยาเม็ดเคี้ยวเป็นรูปแบบยาที่ออกแบบมาให้มีการแตกตัวหรือละลายในช่องปาก ส่งผลให้ตัวยาสำคัญที่ปลดปล่อยออกมามีโอกาสสัมผัสกับตุ่มรับรสบนลิ้นจึงจำเป็นต้องกลบรสตัวยาสำคัญด้วยเทคนิคการกลบรสต่างๆ เทคนิคการกลบรสแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การเติมสารแต่งรสหวาน (2) การป้องกันยาสัมผัสกับตุ่มรับรสบริเวณลิ้นและ (3) เทคนิคอื่นๆ การเติมสารแต่งรสหวานเป็นเทคนิคที่ทำได้ง่ายแต่มีประสิทธิภาพในการกลบรสจำกัดเนื่องจากกลบรสได้เพียงบางส่วน จึงมีการพัฒนาเทคนิคการกลบรสด้วยการป้องกันยาสัมผัสกับตุ่มรับรสบริเวณลิ้น ประกอบด้วยหลายเทคนิคซึ่งมีประสิทธิภาพการกลบรสแตกต่างกันไป ได้แก่ ไมโครเอนแคปซูเลชัน การเกิดสารประกอบเชิงซ้อน โซลิดดิสเพอร์สชันและการใช้เรซินแลกเปลี่ยนไอออน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคอื่นเพื่อใช้ในการกลบรส นิยมใช้หลายเทคนิคร่วมกันเพื่อให้ประสิทธิภาพการกลบรสดีขึ้น การเลือกเทคนิคที่ใช้ในการกลบรสต้องพิจารณาทั้งสมบัติของยาและประสิทธิภาพของเทคนิคการกลบรส รวมถึงต้องมีความเข้าใจในกลไกการรับรสชาติในมนุษย์เพื่อให้สามารถเลือกเทคนิคที่เหมาะสมได้ แล้วจึงประเมินประสิทธิภาพการกลบรสด้วยการทดสอบในร่างกายโดยให้อาสาสมัครชิมรสหรือทดสอบภายนอกร่างกายด้วยการทดสอบการละลายเปรียบเทียบระหว่างตำรับยาที่ไม่ได้ทำการกลบรสและตำรับยาที่ทำการกลบรสแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประเมินประสิทธิภาพการกลบรสอย่างเป็นทางการในเภสัชตำรับ ทั้งนี้อาจอ้างอิงจากงานวิจัยที่นำเสนอการพัฒนาวิธีทดสอบ
คำสำคัญ
การกลบรส ยาเม็ดชนิดแตกตัวในช่องปาก แผ่นฟิล์มชนิดแตกตัวเร็วในปาก ยาเม็ดอม ยาเม็ดเคี้ยว สารแต่งรสหวาน