บทคัดย่อ
บทนำ
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) โดยเฉพาะภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด (hypercholesterolemia) เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease; CVD) การศึกษาพบว่ามากกว่าหนึ่งในสามของการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease; IHD) หรือโรคสมองขาดเลือด (ischemic stroke) มีสาเหตุมาจากระดับคอเลสเตอรอลชนิด low-density lipoprotein (LDL-C) ในเลือดที่สูง1 การลดระดับ LDL-C ทุก 1 มิลลิโมล/ลิตร หรือประมาณ 39 มก./ดล. มีความสัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ทางหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular events) ร้อยละ 20-252, 3 ในประเทศไทย แนวทางเวชปฏิบัติการบำบัดภาวะไขมันผิดปกติในเลือดเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2567 ได้แนะนำระดับ LDL-C ในเลือดที่เหมาะสมสำหรับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโรคหัวใจและหลอดเลือดที่แตกต่างกัน เช่นในกรณีการป้องกันแบบปฐมภูมิ (การรักษาผู้ที่มีระดับไขมันผิดปกติในเลือดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน clinical atherosclerosis cardiovascular disease [ASCVD] ในผู้ที่ยังไม่มีโรค) แนะนำให้มีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 100 มก./ดล. (ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม (familial hypercholesterolemia; FH) หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 ปัจจัยขึ้นไปที่แนะนำให้ต่ำกว่า 70 มก./ดล.) ส่วนในกรณีการป้องกันทุติยภูมิ (การรักษาผู้ที่มี clinical ASCVD แล้วโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute coronary syndrome; ACS) แนะนำให้มีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 55 มก./ดล. ในขณะที่แนะนำให้ต่ำกว่า 70 มก./ดล. ผู้ป่วยกลุ่มภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง (chronic coronary syndrome; CCS) และผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด (ischemic stroke) หรือสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack; TIA)4 การศึกษาถึงการบรรลุเป้าหมายของระดับ LDL-C ในประเทศไทยพบว่ามีเพียงร้อยละ 43.5 ของผู้ป่วยเบาหวานมีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 100 มก./ดล.5 ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีเพียงร้อยละ 25 ถึงร้อยละ 35 เท่านั้นที่มีระดับ LDL-C ในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล.6-9 มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายระดับ LDL-C ในเลือดตามคำแนะนำ เช่นผู้สั่งใช้ยาไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการลดระดับคอเลสเตอรอลให้ถึงระดับที่แนะนำ ไม่จ่ายยาหรือไม่เพิ่มขนาดหรือความแรงของยาลดไขมันในเลือดโดยเฉพาะยากลุ่มสแตติน (statin) ตามที่ควรจะเป็น (มีความเฉื่อยทางคลินิกหรือ clinical inertia) ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จนไม่สามารถทนต่อยาได้ ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรับประทานยา ผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลก่อนการรักษาที่สูงมาก ยาที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลได้จำกัด รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงยาที่มีราคาสูง10-12
ในผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับ LDL-C ได้ตามเป้าหมายจากการได้รับยาในกลุ่มสแตตินในขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถทนได้ มีความเหมาะสมที่ควรได้รับยาเพิ่ม ซึ่งในปัจจุบันยาตัวที่นิยมใช้มากที่สุดคือยา อีเซทิไมบ์ (ezetimibe) และอาจรวมถึงยายับยั้งเอนไซม์ proprotein convertase subtilisin/kexin type 9; PCSK 9 inhibitors) ในกรณีที่มีความจำเป็น ยาสองตัวนี้เมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่มสแตติน สามารถลดระดับ LDL-C ในเลือดและลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ทางหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ล่าสุดยากรดเบมพีโดอิก (bempedoic acid) ซึ่งเป็นยาลดไขมันชนิดใหม่ที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบใหม่ ได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยในปี 2567 ให้ใช้ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ในบทความนี้จะอธิบายถึงเภสัชวิทยาของยากรดเบมพีโดอิกข้อมูลการศึกษาทางคลินิก และการนำยาตัวนี้ไปใช้ในทางคลินิก โดยจะเน้นที่ข้อบ่งใช้ที่รับการรับรองในประเทศไทยเป็นหลัก