ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
สารพฤกษเคมีที่น่าสนใจในมะตูม
ชื่อบทความ สารพฤกษเคมีที่น่าสนใจในมะตูม
ผู้เขียนบทความ รศ. ภก. ดร. รุทธ์ สุทธิศรี และ ผศ. ภก. ดร. นนทเลิศ เลิศนิติกุล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-1-000-001-10-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 16 ก.ย. 2567
วันที่หมดอายุ 15 ก.ย. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
มะตูม (bael หรือ Indian bael) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย คนไทยรู้จักมะตูมกันดีในแง่ของการเป็นไม้มงคล หรือการนำผลมะตูมไปใช้ทำขนมและเครื่องดื่ม ใบมะตูมมีใบย่อยรูปปลายแหลม 3 ใบ มีลักษณะคล้ายพระแสงตรีซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์ หรือบางตำราก็ระบุว่าใบย่อย 3 ใบของมะตูมเป็นตัวแทนของพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ จึงถือว่าเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความเป็นสิริมงคล นิยมใช้ประกอบพิธีมงคล เช่น ใช้ทัดหูของคู่บ่าวสาวที่ได้รับพระราชทานน้ำสังข์ [1] ผลมะตูมมีคุณค่าทางอาหารสูง หลายส่วนของต้นมะตูมมีสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ทางการรักษา หรือมีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นยาต่อไป ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะตูม มะตูม เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos (L.) Corrêa อยู่ในวงศ์ Rutaceae (วงศ์เดียวกับส้ม มะนาว มะกรูด และไม้ประดับ เช่น แก้ว) พืชชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-18 เมตร แตกกิ่งไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เนื้อไม้แข็งและมีกลิ่น บางครั้งอาจมีน้ำยางเหนียว ลำต้นมีหนามแข็งแหลม ใบเป็นใบประกอบซึ่งมีเพียง 3 ใบย่อย ออกเรียงสลับ ใบย่อยมีผิวเรียบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ มีขอบหยักมน ใบย่อยตรงกลางขนาดใหญ่กว่าใบย่อยคู่ข้าง ดอกออกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านดอกสั้น มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบเชื่อมกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกแยก มี 5 กลีบ สีขาวอมเขียวและมีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่เหนือฐานรองดอก ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมส้มหรือสีเหลือง เปลือกผลแข็งและหนา เนื้อผลสีเหลือง มีน้ำยางเหนียวใส เมล็ดรูปแบนรี มีหลายเมล็ด
คำสำคัญ
มะตูม, aegeline, skimmianine, O-(3,3-dimethylallyl)-halfordinol, marmelosin, umbelliferone