บทคัดย่อ
ไฮโดรเจลเป็นพอลิเมอร์ที่มีโครงสร้างเป็นตาข่ายสามมิติทำให้มีความสามารถในการกักเก็บน้ำหรือของเหลวได้ในปริมาณมาก โดยไฮโดรเจลสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักตามแหล่งที่มา ได้แก่ ไฮโดรเจล จากธรรมชาติและไฮโดรเจลสังเคราะห์ ไฮโดรเจลจากธรรมชาติมีความเข้ากันได้ดีในทางชีวภาพ ย่อยสลายได้ และไม่เป็นพิษ แต่มีสมบัติเชิงกลและความสามารถในการกักเก็บของเหลวที่ต่ำ ส่วนไฮโดรเจลสังเคราะห์มีความยืดหยุ่นในการปรับองค์ประกอบและสมบัติทางเคมี มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าและมีความแข็งแรงสูงกว่า แต่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าไฮโดรเจลจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาไฮโดรเจลลูกผสมที่นำข้อดีของไฮโดรเจลทั้งสองประเภทมารวมกัน ซึ่งในการเตรียมไฮโดรเจลมีขั้นตอนหลักได้แก่การเกิดพอลิเมอไรเซชันโดยการใช้มอนอเมอร์ สารเริ่มปฏิกิริยา และตัวเชื่อมขวาง ไฮโดรเจลสามารถออกแบบให้ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมได้ทั้งทางกายภาพและเคมี การศึกษาไฮโดรเจลเริ่มต้นมีมาตั้งแต่ปี 1960 และได้ขยายการประยุกต์ใช้ไปยังหลายสาขาโดยเฉพาะทางการแพทย์และเภสัชกรรม โดยเฉพาะการใช้วัสดุนาโนร่วมกับไฮโดรเจลเพื่อปรับปรุงสมบัติของไฮโดรเจล เช่น การนำส่งยา การพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ที่ไวและเฉพาะเจาะจงสูง และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตรวจจับการติดเชื้อ ไฮโดรเจลยังถูกใช้ในแผ่นปิดแผลและการรักษาการติดเชื้อราบริเวณกระจกตา งานวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการใช้ไฮโดรเจลเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยในอนาคต