ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
การใช้ยากันชักในสตรีมีครรภ์
ชื่อบทความ การใช้ยากันชักในสตรีมีครรภ์
ผู้เขียนบทความ ภก.ชัชนินทร์ อจลานนท์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-1-000-002-07-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 28 พ.ย. 2567
วันที่หมดอายุ 27 พ.ย. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีมีครรภ์ โดยมีอุบัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.5-1 ของกลุ่มประชากรสตรีมีครรภ์ทั้งหมด(1) จากข้อมูลการสำรวจความชุกของผู้ป่วยโรคลมชักที่ตั้งครรภ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ปี ค.ศ. 2016 พบได้ถึงร้อยละ 0.49(2) ส่วนในต่างประเทศมีข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่าแต่ละปีมีทารกกว่า 2,500 รายที่เกิดจากมารดาที่ป่วยเป็นโรคลมชัก(3) ทั้งนี้โรคลมชักอาจส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสเสียชีวิตของสตรีมีครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้อย่างมาก โดยมีข้อมูลแสดงอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงถึง 10 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคลมชัก(4) และจากรายงานสถิติของ Confidential Enquiries into Maternal Deaths and Morbidity (MBRRACE-UK) ของประเทศเดียวกันนี้ ในปี ค.ศ. 2014 พบว่ามารดาจำนวนทั้งหมด 14 รายที่เสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ มีถึง 12 รายที่ได้ถูกระบุสาเหตุของการเสียชีวิตว่ามาจากโรคลมชักอันเป็นการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันที่ไม่คาดคิด (SUDEP หรือ sudden unexpected death in epilepsy) ซึ่งส่วนใหญ่มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคลมชักได้ไม่ดี(5) นอกจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตัวโรคลมชักแล้วนั้น ยังมีปัญหาอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคลมชักอีกเช่นกัน อย่างที่ทราบกันดีว่ายากันชักบางชนิด เช่น sodium valproate หรือ carbamazepine นั้นมีผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ โดยสามารถทำให้เกิดภาวะทารกวิรูปได้ (major congenital malformation) หรืออาจส่งผลต่อการพัฒนาสติสัมปชัญญะของเด็กในระยะยาว(6) จากข้อมูลความเสี่ยงที่เกิดจากการรักษาดังกล่าว อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดความวิตกกังวลและหยุดการรักษาเองและทำให้อาการชักกลับมากำเริบซ้ำหรืออาจส่งผลต่อชีวิตของทั้งมารดาและทารกได้ ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมียากันชักที่มีข้อมูลปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยากันชักรุ่นใหม่ เช่น lamotrigine, topiramate, zonisamide และ levetiracetam เป็นต้น ในฐานะเภสัชกรจึงควรมีบทบาทในการบูรณาการข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยากันชักรุ่นใหม่ เภสัชพลศาสตร์ เภสัชจลนศาสตร์ของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ ร่วมกับการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา เพื่อนำมาสนับสนุนการดูแลรักษาสตรีมีครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคลมชักได้อย่างมั่นใจ โดยมุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตทั้งต่อมารดาและต่อทารกในระยะยาว
คำสำคัญ
ยากันชัก, สตรีมีครรภ์, ทารกวิรูป