บทความวิชาการ
วัคซีนสำหรับผู้สูงวัย: วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Vaccines for elderly: zoster vaccines)
ชื่อบทความ วัคซีนสำหรับผู้สูงวัย: วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Vaccines for elderly: zoster vaccines)
ผู้เขียนบทความ รศ. ภญ. ดร. มะลิ วิโรจน์แสงทอง
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-1-000-002-06-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 03 ก.ค. 2566
วันที่หมดอายุ 02 ก.ค. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ผู้สูงวัยหมายถึงประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โรคงูสวัดเป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทและผิวหนังที่พบบ่อยในผู้สูงวัยและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เนื่องจากมีอาการปวดปลายประสาทมากและอาการปวดอาจนานหลายสัปดาห์ หลายเดือนหรืออยู่นานเป็นปี โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อ varicella-zoster virus (VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยการติดเชื้อครั้งแรกผู้ป่วยจะเป็นโรคอีสุกอีใสก่อน ในช่วงที่อาการของโรคอีสุกอีใสเริ่มดีขึ้น ไวรัสบางส่วนจะหลีกหนีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ด้วยการแอบแฝงอยู่ในเซลล์ประสาทของปมประสาทรับความรู้สึก เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีและบุคคลนั้นมีภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ลดลงอย่างมากซึ่งมักพบในผู้สูงวัย ไวรัสจะฟื้นคืนและออกมาก่อให้เกิดการติดเชื้อครั้งที่สอง ทำให้เกิดโรคงูสวัด ซึ่งโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีน วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมี 2 ชนิด ได้แก่ 1) วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ [Live-attenuated zoster vaccine (LZV)] 2) วัคซีนหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์ [Recombinant subunit zoster vaccine (RZV)], RZV มีประสิทธิศักย์ต่ออุบัติการณ์ต่อโรคงูสวัด (ร้อยละ 97.2) สูงกว่า LZV (ร้อยละ 51.3), สามารถให้ในผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันจากโรคที่ทราบได้ รวมทั้งระยะเวลาป้องกันโรค (10 ปี) นานกว่า LZV (8 ปี) อย่างไรก็ดี RZV ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ (บ่อยที่สุดคือปวด ร้อยละ 78.0) และอาการไม่พึงประสงค์ทั้งระบบ (บ่อยที่สุดคือปวดกล้ามเนื้อและล้าร้อยละ 45.0) ต้องฉีดอย่างน้อย 2 โดส ในขณะที่ LZV ให้โดสเดียว และปัจจุบัน RZV กำลังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
คำสำคัญ
ผู้สูงวัย วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด วัคซีนเชื้อชนิดเป็นอ่อนฤทธิ์ วัคซีนชนิดหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นงูสวัด