บทความวิชาการ
บทบาทของยากระตุ้นเอนไซม์ soluble guanylate cyclase สำหรับรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
ชื่อบทความ บทบาทของยากระตุ้นเอนไซม์ soluble guanylate cyclase สำหรับรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผู้เขียนบทความ ผศ.ดร.ภก.สุรศักดิ์ วิชัยโย
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-1-000-002-02-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 16 ก.พ. 2566
วันที่หมดอายุ 15 ก.พ. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
จากความเกี่ยวข้องของ nitric oxide-soluble guanylate cyclase-cyclic guanosine monophosphate (NO-sGC-cGMP) pathway ซึ่งช่วยชะลอพยาธิสรีรวิทยาการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิด ประกอบกับข้อจำกัดหลายประการของยากลุ่ม organic nitrates หรือ NO donors จึงมีการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นโมเลกุลต่าง ๆ ใน NO-sGC-cGMP pathway โดยตรง บทความนี้นำเสนอข้อมูลทางเภสัชวิทยา ผลการศึกษาทางคลินิก และแนวทางการใช้ยากระตุ้นเอนไซม์ sGC ได้แก่ ยา riociguat ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (pulmonary arterial hypertension) และโรคความดันหลอดเลือดแดงปอดสูงจากการมีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอดเรื้อรัง (chronic thromboembolic pulmonary hypertension) และยา vericiguat ที่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังชนิดที่มีการบีบตัวของหัวใจหองล่างซ้ายลดลง นั่นคือ มี left ventricular ejection fraction (LVEF) ต่ำกว่าร้อยละ 45 ที่อาการแย่ลงแม้กำลังรักษาโดยใช้ยามาตรฐาน จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือจำเป็นต้องได้รับยาขับปัสสาวะฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ ยา riociguat มีค่าครึ่งชีวิตสั้น (8-12 ชั่วโมง) จึงต้องรับประทานยาวันละ 3 ครั้ง ขณะที่ยา vericiguat มีค่าครึ่งชีวิตยาวกว่า (30 ชั่วโมง) จึงสามารถรับประทานวันละครั้ง อย่างไรก็ตาม ยาทั้ง 2 ชนิด ควรเริ่มใช้ที่ขนาดต่ำแล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดทุก 2 สัปดาห์ จนถึงขนาดยาเป้าหมาย ข้อแตกต่างทางเภสัชจลนศาสตร์อีกประการ ได้แก่ ยา riociguat อาศัยเอนไซม์ cytochrome P450 หลายชนิดในกระบวนการเมตาบอลิสม ขณะที่ยา vericiguat อาศัยเอนไซม์จากกระบวนการเติมหมู่กลูคูโรไนด์ (glucuronidation) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบมักเกิดจากผลขยายหลอดเลือดของยา ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ความดันเลือดต่ำ และกรณีรุนแรงอาจทำให้หมดสติ นอกจากนี้ ห้ามใช้ยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน อีกทั้งห้ามใช้ร่วมกับยา organic nitrates หรือ NO donors หรือยายับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase-5 (PDE-5) เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันเลือดต่ำ
คำสำคัญ
ยากระตุ้นเอนไซม์ soluble guanylate cyclase, โรคความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง, ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
วิธีสมัครสมาชิก


เมื่อสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว สามารถอ่านบทความแล้วทำแบบทดสอบ Online ได้ที่
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/cpe