บทความวิชาการ
Finerenone – a novel non-steroidal mineralocorticoid receptor antagonists
ชื่อบทความ Finerenone – a novel non-steroidal mineralocorticoid receptor antagonists
ผู้เขียนบทความ รศ.ดร.ภญ.ปวิตรา พูลบุตร
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-1-000-001-01-2566
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 09 ม.ค. 2566
วันที่หมดอายุ 08 ม.ค. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
การเกิดโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานมีสาเหตุทั้งจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานโดยตรงจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และจากปัจจัยของโรคร่วมอื่นที่ส่งเสริมการเกิดโรคไตโดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มยาสำคัญที่มีผลดีในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ 1) ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง renin-angiotensin-aldosterone system (RAAS blockers) คือยา กลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) และยากลุ่ม angiotensin II receptor blockers (ARBs) และ 2) ยากลุ่ม sodium glucose cotransporter 2 (SGLT2) inhibitors การกระตุ้น mineralocorticoid receptor (MR) ที่มากเกินไปมีความเกี่ยวข้องกับพยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะการเหนี่ยวนำให้เกิดความเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) กระบวนการอักเสบ (inflammation) และการสร้างพังผืด (fibrosis) ซึ่งส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณไต (kidney injury) การยับยั้ง MR ด้วยยากลุ่ม MR antagonists (MRAs) จึงเป็นเป้าหมายการออกฤทธิ์ของยาในการจัดการโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความน่าสนใจ ยา finerenone เป็นยากลุ่ม MRAs ที่ไม่มี steroid ring ในโครงสร้างทางเคมี (non-steroidal MRAs) ยามีการเลือกจับกับ MR (MR selective) โดยไม่เข้าจับกับ steroid hormone receptor ชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการกระจายไปยังเนื้อเยื่อบริเวณไตและหัวใจได้ใกล้เคียงกัน จึงมีผลทำให้เกิดภาวะโปแทสเซียมในเลือดสูง (hyperkalemia) ที่น้อยกว่ายาในกลุ่ม steroidal MRAs ที่มีใช้ทางคลินิกก่อนหน้านี้คือ spironolactone และ eplerenone การศึกษาทางคลินิกใน Phase 3 ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของ finerenone ในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไตที่แย่ลง (FIDELIO-DKD study) และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (FIGARO-DKD และ FIDELIO-DKD studies) ปัจจุบันยาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
คำสำคัญ