บทความวิชาการ
เมธาโดนกับการเกิดภาวะระยะคิวทียาวและตอร์ซาดเดอปวงต์ (Methadone induced QTc interval prolongation and Tosardes de Pointes)
ชื่อบทความ เมธาโดนกับการเกิดภาวะระยะคิวทียาวและตอร์ซาดเดอปวงต์ (Methadone induced QTc interval prolongation and Tosardes de Pointes)
ผู้เขียนบทความ ผศ.ภก.สุธาร จันทะวงศ์*, ภก.ศาศวัต ตันตาปกุล, ภญ.สุพัตรา จินดาดวง
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-1-000-001-12-2565
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 11 ธ.ค. 2565
วันที่หมดอายุ 10 ธ.ค. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ความปวด (pain) หมายถึง ประสบการณ์ความไม่สบายทั้งทางด้านความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อถูกทำลายหรือเนื้อเยื่อมีโอกาสในการถูกทำลาย1 ข้อมูลจากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 14 แห่งในประเทศไทย (ผู้ป่วย 5,763 ราย) พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยรายงานว่ามีความปวด โดยเป็นอาการที่พบเป็นอันดับหนึ่งในผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง2 การรักษาความปวดจะพิจารณาตามระดับความปวด และเลือกใช้ยาตาม “World Health Organization (WHO) Pain Ladder” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ปวดเล็กน้อย (mild pain) แนะนําให้ใช้ยาในกลุ่ม non-opioid analgesics (เช่น nonsteroidal anti-inflammatory drug (NSAIDs), paracetamol) ขั้นที่ 2 ปวดปานกลาง (moderate pain) แนะนําให้ใช้ weak opioids (เช่น tramadol, codeine) หรือ low dose strong opioids (เช่น morphine ขนาดต่ำ) และขั้นที่ 3 ปวดรุนแรง (severe pain) แนะนําให้ใช้ strong opioids (เช่น morphine, fentanyl, methadone)3 ซึ่งยาเหล่านี้มีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการปวดประเภท nociceptive pain ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยาบรรเทาปวดกลุ่มเสริม (adjuvants) ที่สามารถนำมาใช้เพื่อร่วมบรรเทาอาการปวด ได้แก่ ยาต้านเศร้า (antidepressants) ยากันชัก (anticonvulsants) และยากลุ่มสเตียรอยด์ (corticosteroids) เป็นต้น โดยเป้าหมายของการใช้ยาเสริมนี้ คือ ลดขนาดของยา opioids ที่ใช้ รวมทั้งเสริมฤทธิ์บรรเทาอาการปวดของยา opioids โดยเฉพาะการปวดเหตุประสาท (neuropathic pain)4 ปัจจุบันมีการนำยา methadone มาใช้สำหรับรักษาอาการปวดเฉียบพลัน อาการปวดเรื้อรังที่เกิดจากมะเร็งและไม่ได้เกิดจากมะเร็ง อาการปวดเหตุประสาท และรักษาการเสพติดจากการใช้ยากลุ่ม opioids เนื่องจากยามีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้น mu opioid receptor และ delta opioid receptor ร่วมกับการยับยั้ง N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor และยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท serotonin และ norepinephrine แต่ในทางกลับกัน methadone เป็นยาที่มีเภสัชจลนศาสตร์ซับซ้อน มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) ที่มีความผันแปรแตกต่างกันในแต่ละบุคคล อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะง่วงซึม (sedation) รวมถึงเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (adverse drug reaction, ADR) อื่นๆ ได้แก่ ท้องผูก ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น5 อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะคิวทียาว (QTc prolongation) และ ตอร์ซาดเดอปวงต์ (Torsades De Pointes; TdP) ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวถูกรายงานครั้งแรก โดย Krantz และคณะ (ค.ศ.2002)6 ทั้งนี้ยา levomethadyl hydrochloride acetate ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของยา methadone ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกันและได้ถูกถอนออกจากตลาดเมื่อ ค.ศ. 2001 ในทวีปยุโรป7 และ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ค.ศ. 2003 องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้ประกาศเตือนบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากยา methadone และให้บริษัทผู้ผลิตยาเพิ่มเติมข้อความเตือนดังกล่าวลงใน black box warning ของฉลากยา8 ผู้นิพนธ์มีความประสงค์ทำการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับเกิด ภาวะ QTc interval prolongation และ Torsades de Pointes ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย methadone ในด้านอุบัติการณ์ ปัจจัยเสี่ยง กลไก อาการและอาการแสดง และแนวทางในการจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาและป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา methadone
คำสำคัญ
เมธาโดน, Methadone