บทคัดย่อ
ความสำคัญ: ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้ผู้คนสื่อสารได้อย่างอิสระ รวมไปถึงข่าวปลอมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่บนโลกออนไลน์ เหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อและพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเชื่อที่ผิด ๆ การขาดความรอบรู้และทักษะในการคัดกรองและเลือกรับผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงอาจนำไปสู่การความเชื่อและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังภาวะสุขภาพต่ำ อัตราการตาย อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้นได้ การเพิ่มส่งเสริมความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป
วิธีการวิจัย: การวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจภาคตัดขวางระหว่างเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2565 ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งหลายขั้นตอนจาก 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว (face-to-face interview) ด้วยแบบวัดความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ กำหนดจำนวนตัวอย่างไม่น้อยกว่า 2,331 ราย ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 สามารถเก็บตัวอย่างได้ทั้งสิ้น 2,434 ตัวอย่าง
ผลการศึกษา: จากตัวอย่าง 2,434 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 57.52 อายุอยู่ระหว่าง 25 - 45 ปี
ร้อยละ 60.44 อาชีพอิสระ ธุรกิจส่วนตัว หรือเกษตรกร ร้อยละ 44.66 การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ร้อยละ 42.13 รายได้ 10,000 – 15,000 บาท ร้อยละ 42.19 บทบาทเป็นสมาชิกในชุมชนร้อยละ 90.76 ร่วมกิจกรรมในชุมชนนาน ๆ ครั้งร้อยละ 55.63 และอาศัยในเขตอำเภอเมือง ร้อยละ 68.41 ผลสำรวจคะแนนความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 70.89 โดยอยู่ระดับปานกลาง ร้อยละ 55.88 รองลงมาคือ ระดับมาก ร้อยละ 26.17 และระดับน้อย ร้อยละ 17.95 ตามลำดับ ระดับขั้นความรอบรู้ฯ ที่มีคะแนนมากที่สุดคือขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 73.76 รองลงมาเป็นระดับขั้นวิจารณญาณ ร้อยละ 70.95 และขั้นการมีปฏิสัมพันธ์ ร้อยละ 67.01 ตามลำดับ คะแนนความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตาม V-Shape พบว่าด้านที่คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร้อยละ 75.11 รองลงมาคือ ด้านความเข้าใจ ร้อยละ 75.05 ด้านการเข้าถึงสื่อความรู้ ร้อยละ 72.76 ด้านการบอกต่อ มีส่วนร่วมในสังคม การแบ่งปันข้อมูลที่ได้ ร้อยละ 67.98 ด้านการโต้ตอบ ซักถาม แลกเปลี่ยน ความรู้ ร้อยละ 67.81 และด้านการตัดสินใจ การนึกคิด ทัศนคติ ระดับบุคคล ร้อยละ 66.22 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับระดับคะแนนฯ ที่ p<0.05 ประกอบด้วย ปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศ การศึกษา อาชีพ รายได้ บทบาทในชุมชน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน และพื้นที่อยู่อาศัย ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การใช้อินเทอร์เน็ต การรับข้อมูล การได้รับและใช้ข้อมูลข่าวสารผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. ช่องทางสื่อสารข่าวสารที่ประชาชนเลือกใช้สามลำดับแรกคือ เฟซบุ๊ก โทรทัศน์ และยูทูป ร้อยละ 77.44, 59.04 และ 52.67 ตามลำดับ
สรุป: กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ระดับปานกลาง คือ มีความรอบรู้ดี แต่อาจไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติที่ดีได้ถูกต้อง ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวสามารถค้นหาและเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ด้วยตนเอง และมีพฤติกรรมในการแบ่งปันข้อมูลที่ได้รับกับผู้อื่น แต่ขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ คัดกรอง และคัดเลือกข้อมูลดังกล่าวเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ (รู้เท่าทันสื่อ) โดยมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เกี่ยวกับการรับสื่อสังคมต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความรอบรู้ฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วย