บทความวิชาการ
เห็ดเผาะ...อร่อยดีและมีประโยชน์
ชื่อบทความ เห็ดเผาะ...อร่อยดีและมีประโยชน์
ผู้เขียนบทความ ภญ.กฤติยา ไชยนอก
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-1-000-017-10-2565
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 30 ต.ค. 2565
วันที่หมดอายุ 29 ต.ค. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
เห็ดเผาะ (Astraeus hygrometricus (Pers.) Morgan) หรือชื่ออื่นๆ คือ เห็ดถอบ เห็ดเหียง เห็ดหนัง เห็ดดอกดิน เป็นเห็ดกินได้ที่มีรสชาติอร่อยและได้รับความนิยมสูง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือเวลาขบเห็ดจะมีเสียงดังเผาะ ทำให้เกิดความมันในการเคี้ยว พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยยกเว้นภาคใต้ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย เห็ดเผาะที่เก็บจากป่ามักมีราคาแพง เพราะเป็นอาหารที่มีเฉพาะในฤดูฝน แต่การเก็บเห็ดต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ เนื่องจากเห็ดเผาะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเห็ดไข่หงษ์ซึ่งเป็นเห็ดพิษ หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน สรรพคุณพื้นบ้านของเห็ดเผาะคือ ใช้แก้โรคกระเพาะ ช่วยล้างพิษ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน และบำรุงหัวใจ สารสำคัญที่มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเป็นสารในกลุ่ม heteropolysaccharides ได้แก่ สาร AE2 และสารในกลุ่ม sesquiterpenoids ได้แก่ สาร astrakurkurol และสาร astrakurkurone การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า เห็ดเผาะมีฤทธิ์ปกป้องตับ ปกป้องหัวใจ ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์ต้านจุลชีพโดยเฉพาะฤทธิ์ต้านโปรโตซัวลิชมาเนีย แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง การศึกษาความเป็นพิษพบว่า สารสกัดต่างๆ ของเห็ดเผาะมีความปลอดภัย และยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดเผาะ แต่สำหรับผู้ที่แพ้เห็ดหรือแพ้สปอร์เห็ด ควรระมัดระวังการรับประทานเห็ดเผาะ
คำสำคัญ
เห็ดเผาะ, เห็ดถอบ, Barometer earthstar, Astraeus hygrometricus, AE2, astrakurkurol, astrakurkurone
วิธีสมัครสมาชิก
สมัครสมาชิก Online ได้ที่ http://www.medplant.mahidol.ac.th/members/NewsletterForm.asp