บทความวิชาการ
เภสัชวิทยาของยาต้านไวรัสที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อรักษาโรค COVID-19 (Pharmacology of antiviral drugs approved for treatment of COVID-19)
ชื่อบทความ เภสัชวิทยาของยาต้านไวรัสที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อรักษาโรค COVID-19 (Pharmacology of antiviral drugs approved for treatment of COVID-19)
ผู้เขียนบทความ รศ.ดร.ภญ. วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-1-000-012-08-2565
ผู้ผลิตบทความ คลังข้อมูลยา
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 09 ส.ค. 2565
วันที่หมดอายุ 08 ส.ค. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
Coronavirus disease 2019 (COVID-19) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส severe acute respiratory syndrome corona-virus 2 (SARS-CoV-2) ก่อให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ และอาจก่อให้เกิดระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเดิมยังไม่มียารักษาที่จำเพาะเจาะจง จึงจำเป็นต้องมีการนำยาที่ใช้รักษาโรคอื่นและมีฤทธิ์ยับยั้งแต่ละตำแหน่งของวงจรชีวิตเชื้อไวรัส (repurposed drugs) มาปรับใช้รักษา อย่างไรก็ตามปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ให้การรับรองยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรค COVID-19 ได้แก่ ยาเรมดิสิเวียร์ (remdesivir) ใช้โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ นอกจากนั้น US-FDA ได้ให้การอนุมัติขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization: EUA) สำหรับยาเม็ดต้านไวรัสชนิดรับประทาน จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ยาเม็ดสูตรผสมนีมาทรีเวียร์และรีโทนาเวียร์ (nirmatrelvir/ritonavir) และยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) เพื่อรักษาอาการป่วยในผู้ป่วยผู้ใหญ่ และเด็กอายุมากกว่า 18 ปี ซึ่งยาทั้งสองชนิดมีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยนอกที่มีอาการรุนแรงระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการโรคที่รุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวานแบบควบคุมไม่ได้ และโรคหืด เป็นต้น โดยต้องเริ่มรับประทานยาภายใน 5 วัน หลังจากแสดงอาการโรค และรับประทานต่อเนื่องกันจนครบ 5 วัน ผลจากการศึกษาพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอก ยาเม็ดผสม nirmatrelvir และ ritonavir มีประสิทธิภาพสูงกว่า molnupiravir ในการป้องกันการเกิดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตหลังจากรับประทานยานาน 28 วัน คิดเป็นร้อยละ 89 และ 30 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยาเม็ดผสม nirmatrelvir และ ritonavir มีโอกาสเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาสูง เนื่องจากถูกเมแทบอไลต์โดยเอมไซน์ CYP450 ชนิด 3A4 และมีข้อห้ามใช้ยาหลายอย่าง เช่น ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับและผู้ป่วยโรคไตบกพร่องระดับรุนแรงเป็นต้น ขณะที่ยา molnupiravir ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานการเกิดความผิดปกติของทารก รวมทั้งห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจยับยั้งการเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อน เป็นต้น เนื่องจากยาเม็ดทั้งสองชนิดเป็นยาใหม่ที่มีการเข้าถึงยากและราคาแพง ดังนั้นในการเลือกใช้ยาควรพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้ยาในผู้ป่วยมากที่สุด
คำสำคัญ
nirmatrelvir, ritonavir, molnupiravir, remdesivir, COVID-19, Emergency Use Authorization
วิธีสมัครสมาชิก


เมื่อสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว สามารถอ่านบทความแล้วทำแบบทดสอบ Online ได้ที่
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/cpe