บทความวิชาการ
เทคนิคและเทคโนโลยีเภสัชกรรมที่ช่วยส่งเสริมการกลืนยาในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก
ชื่อบทความ เทคนิคและเทคโนโลยีเภสัชกรรมที่ช่วยส่งเสริมการกลืนยาในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก
ผู้เขียนบทความ รองศาสตราจารย์ ดร. อรสร สารพันโชติวิทยา, ปร.ด. ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รหัสกิจกรรม 1007-1-000-001-06-2565
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 02 มิ.ย. 2565
วันที่หมดอายุ 01 มิ.ย. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ในปัจจุบันประชากรโลกรวมทั้งประเทศไทยมีจำนวนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาร่วมกับการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย จึงมักพบโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และข้อเสื่อมหรืออักเสบ ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุได้รับยาหลายชนิดร่วมกัน ส่วนใหญ่เป็นยาเม็ดและยาแคปซูลซึ่งเป็นรูปแบบยาเตรียมที่นิยมใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ ปัญหาการกลืนลำบากที่พบได้มากในผู้ป่วยสูงอายุทำให้ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ความบกพร่องในการกลืนมีผลกระทบในเชิงลบต่อการบริหารยาเตรียมรูปแบบของแข็ง และนำไปสู่วิธีการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การบด หรือหักแบ่งเม็ดยาก่อนการบริหารยาโดยขาดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้นจึงมีการใช้เทคนิคต่างๆ ในการช่วยกลืน และพัฒนารูปแบบยาเตรียมให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพในการรักษาในผู้ป่วยสูงอายุรวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง แนวทางการแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบยาเตรียมจากยาเม็ดและแคปซูลไปเป็นรูปแบบของเหลวโดยการบดลดขนาดเม็ดยาหรือนำมาเตรียมเป็นตำรับยาเตรียมผู้ป่วยเฉพาะราย สามารถดำเนินการได้หากมีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และดำเนินการด้วยความระมัดระวังผลกระทบทั้งทางคลินิกและกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาตำรับสารช่วยทางเภสัชกรรมที่ช่วยให้กลืนยาได้ง่ายขึ้น เช่น เจลลี่ช่วยกลืนยา สเปรย์ช่วยลื่น และฟิล์มหุ้มเม็ดยาช่วยการกลืน การพัฒนารูปแบบยารับประทานที่สะดวกต่อการบริหาร เช่น ยาเม็ดแตกกระจายในปาก รวมถึงการออกแบบเม็ดยาที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการบริหารยา การผลิตยาที่มีขนาดเล็กลง การใช้นวัตกรรมของวัสดุเคลือบเม็ดยา ร่วมกับการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้สะดวก อย่างไรก็ตามการออกแบบและการพัฒนายาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะต้องพิจารณาปัจจัยร่วมที่สำคัญอย่างครบถ้วน ได้แก่ ความปลอดภัยในการใช้ยา การยอมรับของผู้ป่วย และการเข้าถึงยาได้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากที่ต้องรับประทานยาหลายชนิด ให้ความร่วมมือในการใช้ยาตามแผนการรักษา และเกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ดังนั้นผู้เขียนจึงเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอปัญหาในการใช้ยาของผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะการกลืนลำบาก รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้เภสัชกรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหาและนำแนวทางการบริหารจัดการไปปรับใช้ในการช่วยดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ
เทคนิคการกลืนยาในผุ้ป่วยผู้สูงอายุ