บทคัดย่อ
ยาที่ใช้ในปัจจุบันมักออกฤทธิ์โดยทำปฏิกิริยากับแมโครโมเลกุลเป้าหมาย เช่น เอนไซม์ โปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งสารผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ โครงสร้างของเซลล์ รวมถึงรีเซพเตอร์ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่รับสัญญาณของสารต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานทางสรีรวิทยาของร่างกาย โดยเมื่อยาทำปฏิกิริยากับรีเซพเตอร์ ผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งการกระตุ้นให้รีเซพเตอร์ทำงานคล้ายฤทธิ์ของฮอร์โมน โกรทแฟคเตอร์ สารสื่อประสาท หรือออตาคอยด์ที่มีบทบาทในร่างกายอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ยาอาจขัดขวางการทำงานของสารเหล่านี้และทำให้รีเซพเตอร์ทำงานลดน้อยลง จากผลของปฏิกิริยาระหว่างยากับรีเซพเตอร์นี้ทำให้สามารถแบ่งยาได้เป็น 2 ประเภท คือ ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้รีเซพเตอร์ทำงาน (agonist) และยาที่ยับยั้งการทำงานของรีเซพเตอร์ (antagonist) สำหรับรีเซพเตอร์ที่เป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาต่าง ๆ ที่มีใช้ในปัจจุบันอาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มตามลักษณะการทำงาน ระยะเวลาที่เกิดผลทางเภสัชวิทยาหลังจากที่ยาทำปฏิกิริยากับรีเซพเตอร์ รวมทั้งโครงสร้างและตำแหน่งของโปรตีนที่ประกอบกันเป็นรีเซพเตอร์ ได้แก่ 1) รีเซพเตอร์ที่อยู่ภายในเซลล์ 2) รีเซพเตอร์ที่เชื่อมโยงกับไอออนแชนเนล 3) รีเซพเตอร์ที่เชื่อมโยงกับเอนไซม์ และ 4) รีเซพเตอร์ที่จับคู่กับจีโปรตีน โดยบทความนี้มุ่งกล่าวถึงข้อมูลควรรู้ล่าสุดเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของยาผ่านรีเซพเตอร์แต่ละชนิด
คำสำคัญ
รีเซพเตอร์, การออกฤทธิ์ของยา, กลไกการออกฤทธิ์ของยา, เภสัชพลศาสตร์