บทคัดย่อ
โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคที่พบได้บ่อย และพบในประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก อาการปวดศีรษะไมเกรนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จนทำให้ต้องใช้ยาในการรักษา และส่วนหนึ่งต้องใช้ยาเพื่อป้องกัน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจพบปัญหาว่ายาไม่มีประสิทธิภาพดีพอในการรักษาหรือป้องกันโรคได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคร่วม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง หรือมีโอกาสเกิดปัญหาอันตรกิริยากับยาที่ใช้รักษาโรคอื่น ทำให้ไม่สามารถใช้ยารักษาในกลุ่ม triptans หรือ ergots ได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ร่วมกับหลักฐานในปัจจุบันที่พบว่า Calcitonin gene-related peptide (CGRP) มีบทบาทสำคัญในพยาธิสภาพการเกิดไมเกรน จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนายากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ CGRP หรือ CGRP receptor อย่างจำเพาะ โดย erenumab เป็นยาในกลุ่ม monoconal antibody ตัวแรกที่ยับยั้ง CGRP receptor และได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นยาป้องกันไมเกรนในผู้ใหญ่จากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2018 โดยขนาดยาเริ่มต้นที่แนะนำว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น คือ 70 mg ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเดือนละหนึ่งครั้ง และอาจปรับเพิ่มเป็น 140 mg หากการตอบสนองไม่ดีขึ้น โดยอาการข้างเคียงจากการใช้ยามักไม่รุนแรงและไม่สัมพันธ์กับขนาดยา ที่พบได้บ่อย คือ ปวดบริเวณที่ฉีด และอาการที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ ยา erenumab มีข้อดีคือ ไม่ต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีภาวะตับหรือไตบกพร่อง และยังไม่พบว่าเกิดอันตรกิริยากับยาอื่น แต่เนื่องจากยามีราคาแพง จึงควรใช้เฉพาะในกลุ่มที่ล้มเหลวจากการใช้ยาป้องกันอื่นๆ มาแล้ว
คำสำคัญ
ไมเกรน, erenumab, monoclonal antibody, การป้องกัน, CGRP, ยาใหม่